ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ สร้างรายได้เกษตรกรท้องถิ่นกว่า 5 แสนบาท/ไร่

ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ

กรมวิชาการเกษตร โชว์ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 5 แสนบาท/ไร่ เสริมองค์ความรู้เกษตรกรถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต การแปรรูป สินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับการผลิตทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษที่เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สู่มาตรฐานการผลิต (Premium Grade) ในระดับสากล

วันที่ 28 เมษายน 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติที่เป็นเลิศด้านรสชาติอร่อย มีความหวานมัน เนื้อสัมผัสแห้งเนียนเหนียว กลิ่นหอมละมุน สีเนื้อเหลืองสวย ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติที่ดีของเกษตรกรตามหลักวิชาการเกษตร และมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แตกต่างจากทุเรียนทางภาคตะวันออกและภาคใต้ จึงส่งผลให้ตลาดมีความต้องการทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษสูงมาก ทำให้มีราคาจำหน่ายสูง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ในปี 2564 ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้รวบรวมและคัดเลือกทุเรียนจากการเพาะเมล็ดได้ 17 สายพันธุ์ และขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ จำนวน 1 พันธุ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ชื่อพันธุ์ “ทุเรียนศรีสะเกษ 238” ซึ่งมีสีเนื้อและรสชาติดีเด่นเป็นเอกลักษณ์ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 150-180 บาท/กก. สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 500,000 บาท/ไร่

และได้ขยายพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ “ศรีสะเกษ 238” แจกจ่ายแก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อเป็นการพัฒนาการผลิตทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษ ให้มีความโดดเด่นและเป็นอัตลักษณ์ มีความแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่น ๆ

ทุเรียนพันธุ์ศรีสะเกษ 238
ทุเรียนพันธุ์ศรีสะเกษ 238

คาดใน 3 ปี เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 12,000-15,000 ไร่ สนับสนุนให้มีการขยายพันธุ์ และเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนพันธุ์ใหม่ให้มากขึ้น

รวมทั้งการจัดการสวนทุเรียนยุคใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน สร้างตลาดผู้บริโภครายใหม่ ลดปัญหาทุเรียนล้นตลาดในอนาคต

ปี 2565 ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้ดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แปรรูป ผลิตผลและสินค้าเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการแก้ไขปัญหาการผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน

โดยการติดตามให้คำแนะนำการจัดการสวนทุเรียนเพื่อผลิตทุเรียนคุณภาพ การสร้างแปลงแม่พันธุ์ทุเรียน “ศรีสะเกษ 238” และขยายพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่แจกจ่ายแก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น และการฝึกอบรม “เทคนิคการขยายพันธุ์ทุเรียนมืออาชีพ” ให้แก่เกษตรกร

ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ

สำหรับในปี 2566 ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์และจัดการเรือนเพาะชำ การสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้จากการขยายพันธุ์และจำหน่ายพันธุ์ทุเรียน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรรายใหม่ที่จะปลูกทุเรียน แต่ยังขาดองค์ความรู้และทักษะในการขยายพันธุ์และการจัดการเรือนเพาะชำ เพื่อสร้างผู้ประกอบการในการผลิตและจำหน่ายต้นพันธุ์ทุเรียน

อีกทั้งการเตรียมขึ้นทะเบียนพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่ จำนวน 1 พันธุ์ และสร้างแปลงแม่พันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่ เพื่อเผยแพร่ทุเรียนพันธุ์ใหม่แก่เกษตรกรด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน ภายใต้กิจกรรม การพัฒนาระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพและขยายผลทุเรียนพันธุ์ศรีสะเกษ ประกอบด้วย

1.การถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพของกรมวิชาการเกษตร ผ่านการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 8 ปี (2555-2562) จำนวน 25 หลักสูตร เกษตรกรจำนวน 2,185 ราย

2.การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนยุคใหม่ มีการปรับเปลี่ยนการผลิตและการตลาดเป็นแบบรวมกลุ่ม เพื่อผลิตทุเรียนคุณภาพและเพิ่มอำนาจต่อรองด้านการตลาด

3.การสร้างแปลงต้นแบบการผลิตทุเรียนในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การผลิตทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง

4.สร้างอัตลักษณ์ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษให้มีความโดนเด่นแตกต่างจากที่อื่น ทำให้ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นผลจากการพัฒนาและส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนคุณภาพที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน