ราช กรุ๊ป Q1/66 กำไร 1,448 ล้าน จับตารัฐบาลใหม่เจรจาปรับสัญญาซื้อขายไฟ

ชูศรี เกียรติขจรกุล
ชูศรี เกียรติขจรกุล

ราช กรุ๊ป แถลงผลประกอบการไตรมาส 1/2566 กำไรสุทธิ 1,448 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนในพอร์ตเน็กส์ซิฟ 1,479 ล้านบาท แนะนำรัฐบาลชุดใหม่ให้มองระยะยาว เจรจาปรับสัญญาซื้อขายไฟ อาจจะกระทบต่างชาติ

15 พฤษภาคม 2566 นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 มีรายได้รวม จำนวน 17,005 ล้านบาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 15,310 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัท เป็นจำนวน 1,448 ล้านบาทลดลง 8.3%

EBITDA 3,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นจำนวน 3,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 และกำไรก่อนหักขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน เป็นจำนวน 1,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.3%

สำหรับฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 224,500 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 118,035 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 106,465 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทยังมีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งสะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 1.11 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นร้อยละ 7.36

ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ฐานการเงินยังแข็งแกร่ง ส่วนในไตรมาสนี้ บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการที่ลงทุนช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ได้แก่ โรงไฟฟ้าราช เอ็นเนอร์จี ระยอง 98 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมลินคอล์น แก็ป 1&2 กำลังผลิตรวม 212 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสแนปเปอร์ พอยท์ ขนาด 154 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าพลังน้ำค๊อคซาน 17.37 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำซ็องเกียง 2 กำลังผลิต 17.10 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม (พอร์ตเน็กส์ซิฟ) รวมเป็นเงินประมาณ 1,479 ล้านบาท ซึ่งช่วยเสริมความมั่นคงทางการเงินของบริษัทมากยิ่งขึ้น

Advertisment

ชี้แนวโน้มไตรมาส 2 เพิ่มสูงกว่าไตรมาสแรก

 

นางสาวชูศรีกล่าวว่า คาดการณ์ผลประกอบการณ์ในไตรมาสที่ 2 จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากการเปิดดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนไพตัน และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ที่เริ่มวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) อาจทำให้มีรายได้เข้ามามากถึง 3 พันล้านบาท

สำหรับ ไตรมาสแรกปีนี้ เหตุที่กำไรสุทธิของบริษัทลดลง เพราะผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย แต่อย่างไรก็ตามรายได้จากสินทรัพย์โรงไฟฟ้าที่ลงทุนใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยธุรกิจไฟฟ้าสร้างรายได้อยู่ที่ 16,494 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97 ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล จำนวน 14,603 ล้านบาท (ร้อยละ 88.5) และรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จำนวน 1,891 ล้านบาท (ร้อยละ 11.5) ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-Power เริ่มรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น โดยไตรมาสนี้มีจำนวน 511 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของรายได้รวม

Advertisment

ทั้งนี้ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทางบริษัทสามารถดำเนินงานได้ตามแผน โดยส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น ขนาดกำลังการผลิต 31.2 เมกะวัตต์เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์จำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมแล้ว และโรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร ขนาด 59 เตียง ได้เปิดให้บริการแล้วเช่นกัน

สำหรับการร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน กำลังการผลิตติดตั้ง 2,045 เมกะวัตต์ ที่อินโดนีเซีย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และรายได้โดยประมาณจะอยู่ที่ 2,500 ล้านบาทต่อปี

ไทม์ไลน์ 8 โครงการใหม่ ปี’67-68

นอกจากนี้ โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2567 จำนวน 8 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 518.66 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าตามแผนงาน สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 และเริ่มการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าชุดที่ 1 ในไตรมาสแรกปี 2567 และโรงไฟฟ้าชุดที่ 2 ในไตรมาแรกปี 2568

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาลาบังก้า ในฟิลิปปินส์ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 36.33 เมกะวัตต์กำลังดำเนินการจัดหาเงินกู้โครงการและจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จในการบุกเบิกธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์

เดินหน้า กลยุทธ์ 3S

ส่วนแผนธุรกิจในอนาคต นางสาวชูศรีกล่าวว่า ดำเนินงานโดยยึดหลักกลยุทธ์ 3S คือ Strength-Synergy-Sustainability โดยบริษัทยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าต้องการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ ทั้งประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะเน้นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ ในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย โดยใช้งบประมาณที่ 29,000 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจ Non-Power บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และขยายฐานธุรกิจด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็บริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงของกระแสเงินสดและรายได้ พร้อมทั้งจัดเตรียมแผนการจัดหาเงินทุน โดยพิจารณาเครื่องมือทางการเงินและต้นทุนที่เหมาะสมกับประเภทโครงการ ซึ่งจะช่วยให้แผนการขยายธุรกิจของบริษัทสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

จับตารัฐบาลใหม่ เจรจาปรับสัญญาซื้อขายไฟ

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่ นายสาครินทร์ ตังคะวชิรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจของบริษัทราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลที่เข้ามาต้องเข้ามาจัดการเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพลังงานเพื่อความยั่งยืน (energy transition) โดยเน้นที่เรื่องของพลังงานหมุนเวียน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีพลังงานสำรองที่สามารถพึ่งพาได้ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บพลังงาน รวมถึงความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนธรรมชาติอย่างพลังงานลมและแสงอาทิตย์

“กรณีนโยบายการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่มีโอกาสสูงสุดในการจัดตั้งรัฐบาลไว้ว่า อาจจะมีปัญหาในบางสัญญาเนื่องจากเป็นการทำสัญญากับต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็สามารถเจรจาได้ โดยรัฐบาลจะต้องหาจุดกึ่งกลางผลประโยชน์ระหว่างเอกชนและประชาชน เพราะหากรัฐบาลออกมาตรการที่เข้มงวดเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศได้ และฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า การทำเพื่อประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ให้มองระยะยาวถึงส่วนรวมของประเทศด้วย”