ลุ้นรัฐบาลใหม่ตั้งกองทุน FTA ตั้งต้นงบประเดิม 5 พันล้าน

กองทุน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชงรัฐบาลชุดใหม่ เดินหน้าจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ ชงของบประมาณตั้งต้น 5,000 ล้านบาท บวกรายได้ค่าธรรมเนียม แง้มช่องทางใหม่ “รับบริจาค” เพิ่ม เตรียมหารือ ก.คลัง จัดทำแนวทางลดหย่อนภาษี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเอฟทีเอ ภายหลังจากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทั้งร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA และเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เช่น หลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุน ซึ่งได้รวบรวมจากการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้ามาขอสนับสนุนช่วยเหลือ และเข้าถึงเงินกองทุนเอฟทีเอได้อย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการเสนอร่างต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้ง

“กรมมองว่าการมี พ.ร.บ.เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เมื่อจัดทำเอกสารประกอบแล้วเสร็จ กรมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอเข้ากฤษฎีกา ตรวจร่างต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยคาดว่าจะเสนอเข้าพิจารณาต่อรัฐมนตรีคนใหม่ และรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา”

สำหรับแหล่งที่มาของรายได้กองทุนในเบื้องต้นมี 2 ส่วน คือ ขอรับจัดสรรงบประมาณไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เป็นกรอบงบประมาณประเดิม ซึ่งต้องเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา และอีกส่วนจะมาจากคนที่ได้ประโยชน์จาก FTA ที่จะเอามาสมทบกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O)

Advertisment

แต่ก็ยังต้องคุยกันต่อ ยังไม่ชัดต้องมีการหารือก่อน แต่ปัจจุบันก็มีการเก็บจากค่าธรรมเนียม ค่าบริการ การขอเอกสาร แต่ก็จะมีกรณีกับผู้ที่ได้ประโยชน์จากการนำเข้า เสียภาษีต่ำ หรือไม่เสียภาษี ถ้าจะไปเก็บ ก็จะถูกมองว่ามาจากไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก และจำเป็นต้องมีการพูดคุยกัน พร้อมทั้งหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม เช่น จากการบริจาคสมทบ ซึ่งสามารถนำไปหักภาษีได้

“กรณีการรับบริจาคนี้ จำเป็นต้องไปหารือกับกระทรวงการคลัง มีหลักเกณฑ์ มีวัตถุประสงค์ยังไง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่ยุติ เพราะส่วนใหญ่แล้วการบริจาคนั้น จะเป็นการบริจาคเพื่อประโยชน์สาธารณกุศล แต่สุดท้าย เพื่อให้การเจรจา FTA ต่าง ๆ เดินหน้าได้ รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งจำเป็นต้องมีกลไกที่จะเข้ามาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ”

ส่วนหลักเกณฑ์การขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนเอฟทีเอจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือหรือไม่

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เป็นแนวทางหนึ่งที่ตอบโจทย์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ซึ่งอาจจะมีเรื่องอื่น ๆ ที่จะต้องนำไปหารือในหลายเวที

Advertisment