ราคาน้ำมันดิบ (11 ก.ค. 66) ปรับลด ตลาดกังวลธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Johannes EISELE / AFP

ราคาน้ำมันดิบปรับลง จากตลาดกังวลธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย ท่ามกลางตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จากตลาดกังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังผู้แทนจากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) หลายรายส่งสัญญาณว่า FED จะยังคงปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกจนกว่าจะคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย ท่ามกลางตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

โดยทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานในเดือน มิ.ย. ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบสองปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงที่เพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานที่ลดลง ทำให้ตลาดคาดว่าการประชุมเดือน ก.ค. FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เป็นปัจจัยกดดันต่ออุปสงค์เชื้อเพลิงในตลาด

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 10 ก.ค. 2566 อยู่ที่ 72.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.87 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 77.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.78 เหรียญสหรัฐ

วานนี้ (10 ก.ค.) สำนักงานสถิติจีน (NBS) เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือน มิ.ย. 66 ปรับลดลงกว่า 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยลดลงมากที่สุดในรอบ 7 ปี บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว

Advertisment

อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว หลังซาอุดีอาระเบียประกาศขยายการลดกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือน ส.ค. ขณะที่รัสเซียประกาศลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบกว่า 5 แสนบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมดจากกลุ่ม OPEC+ จะปรับลดลงกว่า 5.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตัวเลขการส่งออกน้ำมันเบนซินจากสิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 7% ในรอบสัปดาห์ ขณะที่อุปทานในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากกำลังการผลิตที่ฟื้นตัวหลังการซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเกาหลีใต้

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลัง ARA ในยุโรป ปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

Advertisment