นักวิชาการชำแหละผลต่อเศรษฐกิจตั้งรัฐบาลล่าช้า ไทยเสียโอกาสดึงลงทุน

เศรษฐกิจไทย การจับจ่าย
Photo by Dan Freeman on Unsplash

พิธาวืดนายกฯ โหวตรอบแรก นักวิชาการ ชำแหละผลต่อเศรษฐกิจ หากตั้งรัฐบาลล่าช้า ไทยเสี่ยงเสียโอกาสดึงลงทุนท่ามกลางโอกาส Geopolitic หวั่นงบประมาณปี’67 ลากยาว

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 หลังจากผลโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จบลงเมื่อวานนี้ โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกลแพ้โหวต ซึ่งทำให้ต้องมาดำเนินการโหวตอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. 66

รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยควรมีรัฐบาลให้เร็วที่สุด แทนที่จะปล่อยเป็นสุญญากาศ เพราะท่ามกลางกระแส Geopolitics กำลังเกิด และปัญหาจากระบบของจีน ทำให้บริษัทจำนวนหนึ่ง รวมทั้งแรงงานฝีมือต้องย้ายฐานออกจากจีน เพื่อหาฐานใหม่ที่ปลอดภัย ซึ่งแต่ละประเทศต่างแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนและแรงงานเหล่านี้ หากไทยล่าช้าจะมีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้น

รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์

“ต่างชาติ โดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นเคยกับไทย เขามองไปที่ตัวระบบมากกว่า เพราะเขาไม่รู้จักใครในไทยมากนัก ระบบต้องโปร่งใส และอยู่ในวิสัยที่คาดเดาได้ เช่น เงินเข้าไม่สูญจากปัญหาการเมือง รัฐไม่เข้ามายึดกิจการ แม้อาจมีความไม่พอใจจากการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าใครตั้งรัฐบาล แต่สิ่งที่ต้องบริหารจัดการต้องอย่าให้กระทบกับการเดินหน้าทางธุรกิจ”

Advertisment

ปมค่าแรงกระทบทั้งระบบ

ส่วนประเด็นค่าแรงขั้นต่ำที่จะพยายามจะปรับขึ้น เป็นสัญญาของเกือบทุกพรรคที่มีศักยภาพจัดตั้งรัฐบาลนั้น สิ่งที่ต้องคิดและตระหนักคือ มูลเหตุพื้นฐานที่เราจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ คือช่วยให้แรงงานระดับล่างมีเงินที่เพียงพอกับค่าครองชีพ ในความเป็นจริงไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน (นั่นคือเหตุที่เราต้องไปใช้คนงานจากประเทศเพื่อนบ้าน) และค่าแรงที่จ่ายจริง ๆ อาจไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงขั้นต่ำ สิ่งที่เอกชนกังวลคือ เมื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำจะสร้างแรงกระเพื่อมไปยังแรงงานระดับอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น โจทย์นี้น่าจะคิดถึงการใช้ช่องทางอื่น ๆ เพื่อขึ้นค่าแรง โดยไม่กระเพื่อมทั้งระบบ

ความกังวลเรื่องงบฯ

อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณล่าช้าออกไป เรื่องเหล่านี้คงต้องเตรียมบริหารจัดการให้เหมาะสม แต่ผมคิดว่าไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับรัฐ และจะได้รับผลกระทบจากความล่าช้าดังกล่าว

ส่วนประเด็นการใช้งบการเงินฐานศูนย์ (Set zero) ส่วนตัวคิดว่าแม้เป็นเรื่องดี แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำให้เกิดผล ที่สำคัญการลงมือทำจริงน่าจะมีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน ในระยะสั้น ดังนั้น จึงคิดว่า Set zero น่าจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจที่จำกัด งบประมาณรัฐบาลจำนวนมากเป็นรายจ่ายประจำ (75% ใช้ข้อมูลปีงบประมาณ 2566) ซึ่งคงไม่สามารถ set zero ได้

ส่วนที่น่าจะทำได้ คืองบลงทุน แต่ก็คงเป็นเรื่องยากมาก ๆ (จนถึงเป็นไปไม่ได้) ที่รัฐบาลไหนจะยกเลิกโครงการลงทุนเดิมทิ้งทั้งหมด ดังนั้น ส่วนที่จะ set zero ได้จริงก็คงมีอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ผลในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงน่าจะมีจำกัด

Advertisment

ในระยะปานกลาง คงเป็นเรื่องที่คาดเดายากมาก เพราะการ Set zero ที่จะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ต้องครอบคลุมงบประมาณมากพอ (เกือบทั้งหมดของงบลงทุน) แต่ด้วยระยะเวลาทำงานของรัฐบาลหนึ่งเพียงแค่ 4 ปี และโครงการลงทุนของรัฐที่ผ่านมาที่ส่วนมากเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน จึงน่าจะเป็นเรื่องท้าทายพอสมควร

เดินหน้าคุมทุนผูกขาดต่อ

รศ.ดร.อาชนันยังหวังว่าจะมีการสานต่อเรื่องการควบคุมทุนผูกขาด เพราะเป็นประเด็นหนึ่งที่ประชาชนคาดหวังกับรัฐบาลใหม่ ว่าจะมีการจัดการไม่มากก็น้อย น่าจะทำให้คะแนนนิยมปรับเพิ่มขึ้นได้

“ส่วนการจัดการม็อบที่อาจจะกระทบมู้ดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ผมเชื่อว่าผลที่จะมีไม่น่าจะมากมาย หากไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ส่วนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ถ้าทำได้ดีน่าจะแต้มบวก ว่าเราสามารถเอาปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในขอบเขต ผลกระทบจะไม่มากนัก”