ส่องปฏิกิริยา ก้าวไกล x เพื่อไทย จะไปต่ออย่างไร หลังพิธาแพ้โหวตนายกฯ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ไม่อาจฝ่าด่านอรหันต์ ส.ว. และขั้วรัฐบาลเดิม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้

พิธาได้เห็นชอบ 324 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 311 เสียง และ ส.ว. 13 เสียง

ส่วนคะแนนไม่เห็นชอบ 182 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 148 เสียง และ ส.ว. 34 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 40 เสียง และ ส.ว. 159 เสียง ไม่ลงคะแนน 44 เสียง

คะแนนพิธา ไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง 375 เสียง จึงเป็นอัน “ตกไป”

หลังจากสิ้นเสียงโหวตนายกฯ ทุกฝ่ายจับตาว่าพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไรต่อ และพรรคเพื่อไทย เมื่อลูกฟุตบอลไหลมาอยู่ที่เท้าแล้ว จะเดินหน้าอย่างไร

Advertisment

ผู้แพ้ก้าวไกล ปิดสวิตช์ ส.ว.คู่ขนาน

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล : ยอมรับผลโหวต แต่ไม่ยอมแพ้

ยอมรับว่าเสียงมติไม่ถึง 376 ได้เพียง 324 แล้วสาเหตุที่ออกมาเช่นนี้เพราะว่ามีการกดดัน ส.ว.เยอะ และที่ไม่มาประชุมอีก 40 กว่าคน จึงไม่ตรงตามที่เราคาดการณ์ไว้ และหลังจากนี้เราก็จะหาเวลาคิดยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงในการโหวตครั้งต่อไป ส่วนจะเป็นวันใดก็ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา และก็จะมุ่งหน้าเพื่อให้มีการโหวตนายกฯในครั้งที่สองต่อไป

คงต้องมียุทธศาสตร์ในการรวบรวมเสียงในครั้งใหม่ต่อไป โดยอาจจะต้องลงในรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เพราะบางคนได้ข่าวว่าไปต่างประเทศ หรือบางคนไม่อยู่ บางท่านออกจากห้องประชุมไปก่อน แต่ที่พูดได้คือไม่ยอมแพ้ และจะใช้เวลานี้ในการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงใหม่ และขอขอบคุณ ส.ว. 13 คนที่กล้าหาญลงมติให้

ถามว่า เตรียมใจเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ?

Advertisment

“เตรียมใจ เตรียมแผน เตรียมสมอง เพื่อโหวตนายกฯในครั้งที่สอง”

ระยะเวลาในการโหวตรอบสองกระชั้นชิดแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะชนะ ?

“ก็แล้วแต่ที่จะมอง ยังคิดว่ามีเวลา”

ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะยอมหรือไม่ ?

นายพิธากล่าวด้วยสีหน้าตึงเครียดว่า “ยังไม่ถึงเวลาตอนนั้น ตอนนี้ตนยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่”

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล : ตั้งคำถามถึง ส.ว.ที่เคยบอกว่าจะมาสนับสนุนพิธา แต่ถึงเวลากลับไม่มาประชุมว่า

“ต้องถามว่าทำไมเขาไม่มา และมีเหตุผลอะไรที่ไม่มา หากท่านไม่ได้มาด้วยเหตุผลของตัวท่านเองก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีเหตุที่ทำให้ท่านไม่มาก็ต้องถามว่าเป็นเหตุอะไร และไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนจะมีกล้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ ไม่สามารถตอบได้ เพราะอยู่แต่ในห้องประชุม”

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า : แนะให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ตอนหนึ่งว่า

“ครั้นพรรคก้าวไกลจะถอย ร่วมเสนอให้แคนดิเดตพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และยังร่วมรัฐบาลอยู่ ผมก็ไม่แน่ใจว่า บรรดา ส.ว.จะยอมหรือไม่ เพราะพวกเขาน่าจะไม่ปรารถนาเห็นพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ เช่นเดียวกัน ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ฯลฯ ก็คงไม่ยอม เพราะพวกเขาอยาก ‘เสียบ’ เข้าร่วมรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลมากกว่า ถึงเวลา เขาก็อ้างอีกว่า โหวตให้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่กำลังจะตั้งมีพรรคก้าวไกลที่ต้องการเสนอแก้ 112”

“ผมทราบจากพริษฐ์ วัชรสินธุ เพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกลว่า เขามีความคิดเตรียมเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกมาตรา 272 โดยทันที และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ก็เตรียมเข้าชื่อเสนอร่างแล้ว ผมได้ฟังความเห็นของเขา ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ร่างแบบนี้ เคยเสนอในสภาชุดที่แล้ว แต่ตกไป ในครั้งนั้น ส.ส.เกือบทุกพรรค และมี ส.ว.หลายคนเห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 272 มาถึงวันนี้…”

มี ส.ว.พวกที่งดออกเสียง หรือไม่มาลงคะแนน หลายคนอ้างว่า ต้องการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ไม่อยากเข้าร่วมใช้อำนาจตามมาตรา 272 เลือกนายกรัฐมนตรี (แต่เมื่อ 4 ปีก่อน พวกเขากลับขานชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างพร้อมเพรียงกัน) ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพวกเขา จะได้ไม่ต้องมาลงมติตามมาตรา 272 อีก

รัฐสภาจึงควรเร่งดำเนินการยกเลิกมาตรา 272 โดยเร็วที่สุด ผมเชื่อว่าไม่เกิน 4 สัปดาห์ ก็สามารถทำได้เสร็จเรียบร้อย ส.ส.พรรคก้าวไกลมี 151 คน สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว เสนอเข้าสภา

เร่งบรรจุญัตติเข้า ส.ส.เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 272 เกินครึ่งอยู่แล้ว ส.ส.จากฝ่ายที่ไม่มีสมาชิกพรรคเป็นประธาน รองประธาน และนายกฯ ก็เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 272 ส.ว.จำนวนไม่น้อยก็เคยลงคะแนนเห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 272 และมี ส.ว.จำนวนมากที่ขอ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” งดออกเสียง ไม่อยากร่วมโหวตนายกฯ ในวันนี้ ดังนั้น พวกเขาเหล่านี้ย่อมหมดข้ออ้างแล้ว

“ขัยธวัช ตุลาธน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ แก้รัฐธรรมนูญ 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. คู่ขนานโหวตนายกฯ ยังไม่ยอมแพ้เป็นฝ่ายค้าน

“คิดว่าต้องทำหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน แน่นอนเสียงจากประชาชนนอกสภามีส่วนสำคัญ กระบวนการพูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ว.ก็ต้องเดินหน้าต่อ 272 ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งว่าจะทำคู่ขนานไปด้วยกันหรือไม่”

ถามว่า คิดถึงวันที่สุดทางถอย แล้วต้องเป็นฝ่ายค้าน ?

“วันนี้คิดเดินหน้าให้เต็มที่ที่สุด รับผิดชอบเสียงจากพี่น้องประชาชนที่มอบให้เราให้มากที่สุด ให้ดีที่สุดก่อน”

ยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าถอดใจ ?

“โอ้ ยังครับ ถ้าประชาชนไม่ถอดใจ เราก็คงไม่ถอดใจ แล้วเราเชื่อว่า 8 พรรคการเมือง จับมือกันแน่น แพ็กกันแน่นยังไปต่อกันได้ รายละเอียดก็เดี๋ยวคุยกันตามแต่ละสถานการณ์ วันนี้คงจะเป็นการหารือเบื้องต้นเดี๋ยวก็พอมองเห็นแนวทาง”

ยังไม่ใกล้เคียงเป็นฝ่ายค้าน ?

“ยังครับ ยังครับ”

แต่เขาอยากให้ถึงจุดนั้น อีกฝั่งหนึ่ง ?

“ก็มีบางกลุ่ม บางฝ่ายต้องการมาก ๆ หรือไม่ต้องการรอให้พรรคก้าวไกลตัดสินใจหรอก ก็หาวิธีการอื่นเพื่อดันออกมาให้ได้”

สมการที่จะเกิดขึ้นอย่างนั้นได้ก็อยู่ที่พรรคเพื่อไทย ?

“อยู่ อยู่กับทั้ง 8 พรรคแหละครับ”

แต่เพื่อไทยจะเป็นตัวตัดสินว่าจะไปจุดไหนอย่างไร ?

“ก็โดยหลักการก็เป็นแบบนั้น คือหมายความว่า ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า 2 พรรคใหญ่จับมือกันแน่น การพลิกขั้วรัฐบาลไม่มีทางเกิดขึ้น”

เราได้เตรียมหรือไม่ ถ้าพรรคพวกเพื่อนฝูง ว่าเราต้องดันพิธาสักกี่ครั้ง ได้เตรียมคำตอบไว้หรือไม่ ?

“เราก็ต้องมีคำตอบ แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ วันนี้จะไปหารือกัน”

บอกได้ไหมสักกี่ครั้ง ?

“มันคงบอกเป๊ะ ๆ อย่างนั้นไม่ได้”

ถึงจุดที่ยังไงก็ไม่ผ่าน เปลี่ยนไปเป็นเพื่อไทย ก้าวไกลยังอยู่ใช่ไหม ?

“ในเมื่อเราบอกว่า 2 พรรคใหญ่ รวมทั้งหมด 8 พรรคยังเกาะกันแน่น เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ได้ ก็อยู่ใน scenario ที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว คู่ขนานกันไป ก็มีข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว.เลยไหม เพราะถ้าตั้งใจกันจริง ๆ ก็ใช้เวลาไม่นานมาก 2 สัปดาห์ 4 สัปดาห์ มันไม่มีอะไรซับซ้อน ยกเลิกมาตรา 272 จบเลย”

“เพราะเราไม่รู้ว่า 8 พรรคแพ็กกันแน่น แล้ว ส.ว.และฝ่ายรัฐบาลเดิมแพ็กกันแน่น ส.ว.ก็กระอักกระอ่วนใจ ว่าไม่สามารถจะโหวตได้จริง ๆ มันอาจจะลากไปเป็นเดือนเหมือนกัน ดังนั้น ทำคู่ขนานกันไปก็อาจเป็น solution ที่ดี”

ยังมีความหวังกี่เปอร์เซ็นต์ ?

“ผมคิดว่าปฏิกิริยาของหลาย ๆ ฝ่ายหลังทราบผล ก็ยังพอจะมีสัญญาณบวกอยู่ ขอให้เดินหน้าต่อไป รอดูผลการโหวตของ ส.ว.ในครั้งต่อไปก่อน”

ขั้วเพื่อไทย คุยในพรรค

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงมติ : ต้องหารือกันภายในก่อน จากนั้นก็จะนำไปหารือกับพรรคก้าวไกลต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้พรรคก้าวไกลเป็นคนนัดหมาย เพื่อหารือกันระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคอื่น ๆ จึงยังไม่สามารถตอบแนวทางอะไรได้ ขอให้รอความชัดเจนจากการหารือก่อน

นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์อีกครั้งในช่วงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคม โดยตอบคำถามว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอนายพิธา ต่อหรือไม่ ว่า พรรคเพื่อไทยยังเคารพสิทธิของพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ ขึ้นกับพรรคก้าวไกลที่จะเป็นผู้เสนอในระหว่างวงพูดคุยระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยรวม ทั้งการพูดคุยของ  8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

“ไม่มีอะไรง่ายหรอก โดยเฉพาะการเมืองที่ไม่ปกติแบบนี้ มันคงเป็นประเด็นที่ 8 พรรคร่วมต้องมาคุยกัน ว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร รู้อยู่แล้วว่าถ้าโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม โดยที่เราไม่มีหลักหรือความมั่นใจ แล้วมีคนแข่งแล้วเรามีโอกาสแพ้ ก็ต้องมาปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร”

ส่วนจะมีโอกาสเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ ในการโหวตครั้งที่ 2 หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า “อยู่ที่ข้อเสนอของการพูดคุย”

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามว่าจะเสนอชื่อพิธาถึงกี่รอบ : ไม่ทราบเหมือนกัน ต้องดูนิดหนึ่ง รอบแรกต่ำไปหน่อย เดี๋ยวผมต้องขอปรึกษากับผู้บริหารพรรคก่อนว่าคิดอย่างไร วันนี้มีการประชุมกันน่าจะมีการประชุมร่วม 8 พรรค

ส่วนชื่อนายพิธา ควรไปต่อหรือไม่ นายเศรษฐา เดี๋ยวต้องไปคุยกันก่อน แต่เรายืนยันว่าเราสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯ ขอบคุณ 320 กว่าเสียงที่โหวต เดี๋ยวขอฟังอีกทีว่าในพรรคคิดอย่างไร และแนวทางไปเจรจาพรรคร่วม 8 พรรคเป็นอย่างไร

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย : การโหวตนายกฯ ครั้งที่สองจะเป็นอย่างไร เป็นกลไกของรัฐสภาที่ยังวิพากษ์กันอยู่ ว่าควรจะโหวตอย่างไรต่อไป ตนไม่สามารถที่จะชี้นำได้ เพราะเป็นเรื่องของข้อบังคับ บางท่านก็บอกว่านำมาโหวตซ้ำได้ แต่บางท่านก็บอกว่าไม่ได้ มันคงต้องเป็นเรื่องของสภา

ถามว่า พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมหรือยัง ในการที่จะเสนอแคนดิเดตนายกฯ ?

“ผมไม่ทราบ เป็นเรื่องของผู้บริหารที่ต้องคุยกัน เราไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ แต่ก็เอาใจช่วยอยู่”

จะเป็นคิวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะแคนดิเดตนายกฯจากพรรค พท. ได้หรือยัง ?

“ก็ให้เขาว่ากันไป”

จะมีการเสนอชื่อใครอีกหรือไม่ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ ?

“ไม่ทราบครับ ไม่ทราบ”