ส่งออกไทย มิ.ย. หดตัว 6.4% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ห่วงสงคราม-พลังงานฉุด

นายกีรติ รัชโน

ส่งออกไทยเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.4% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 พร้อมยังห่วง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงานกระทบ ขณะที่ เป้าส่งออกยังคงที่ 1% พร้อมเร่งกิจกรรมผลักดันส่งออกครึ่งปีหลังเต็มที่

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 2566 การส่งออกมีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.4% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565

แต่หากพิจารณาในแง่ของมูลค่า พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น และถือว่าการส่งออกของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

ทั้งนี้ การส่งออกไทยยังหดตัวน้อยกว่าหลายประเทศ โดยการส่งออกหดตัวเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซา จากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว

ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี

Advertisment

ขณะที่การนำเข้าเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,768.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเกินดุล 57.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภาพรวมครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกมีมูลค่า 141,170.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 147,477.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.5% ทำให้ดุลการค้าของไทย ครึ่งปีแรก 2566 ไทยขาดดุล 6,307.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

“สาเหตุที่ส่งออกเดือนมิถุนายน 2566 ติดลบ 6.4% เพราะฐานปีที่แล้วสูงเมื่อเทียบช่วงเดียวกัน ขณะที่มูลค่ามีมากกว่า ถือว่าเป็นที่น่าพอใจในการทำงานระหว่างรัฐและเอกชน เพราะหากเทียบประเทศอื่น ๆ ที่ติดลบมาก เรายังอาการน้อยกว่า ส่วนเป้าหมายการทำงานยังอยู่ที่ 1% พร้อมที่จะทำเต็มที่แม้จะทำไม่ได้ แต่ก็ถือว่าทำงานสุดความสามารถ สิ่งที่เป็นปัจจัยกระทบยังห่วงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนพลังงาน“

ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตร

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 8.6% (YOY) หดตัวต่อเนื่อง
2 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 7.4 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 10.2 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 14.2 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐ เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 31.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ลาว และไต้หวัน)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 15.0 หดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ แอฟริกาใต้ อิรัก ฮ่องกง และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน โมซัมบิก และเกาหลีใต้) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 16.7 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และแอฟริกาใต้

Advertisment

แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล จีน และกัมพูชา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 16.7 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐ แต่ขยายตัวในตลาดไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนาม) ยางพารา หดตัวร้อยละ 43.0 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดอียิปต์) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.8

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 4.6% (YOY) กลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังจากที่ขยายตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 7.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย)

แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 5.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดไต้หวัน จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 21.7% หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในจีน อินเดีย ฮ่องกง ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 20.1 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย เยอรมนี และอินเดีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 9.0 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.3

แนวโน้มส่งออก

แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ที่มีระดับค่าครองชีพสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

ในขณะที่การถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สร้างความกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานอาหารโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเปิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และแอฟริกา

นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกของไทย คือ 1.ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรยังคงเติบโต 2.การได้รับอานิสงส์จากการกระจายแหล่งนำเข้าของคู่ค้า เพื่อทดแทนแหล่งซื้อเดิมที่ประสบปัญหาด้านผลผลิต และ 3.การเติบโตของเมกะเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม การเติบโตของการท่องเที่ยว และปัญหาวัตถุดิบที่คลี่คลายลง ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ คือ ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย