ความมั่นคงทางพลังงานจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงเพราะไทยมีน้ำมันปริมาณเพียงพอเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญไทยจะต้องกระจายน้ำมันไปยังประชาชนทั่วประเทศให้เข้าถึงได้ ในระดับราคาที่เหมาะสมด้วย ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้น้ำมันวันละ 150-160 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยผ่านการขนส่งทางบกเป็นหลัก ทั้งผ่านรถขนส่งน้ำมัน และท่อน้ำมัน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ระดับราคาน้ำมันในจังหวัดต่าง ๆ จึงแตกต่างกันไปตามระยะทางและวิธีการขนส่ง เช่น จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีระดับราคาขายปลีกน้ำมันสูงที่สุด เช่น หากราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 37.55 บาทต่อลิตร แต่หากจำหน่ายที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะมีราคา 38.90 บาท ซึ่งกลไกในการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือให้คนไทยทุกคนได้ใช้น้ำมันราคาเดียวกันทั่วประเทศคือ “ระบบท่อขนส่งน้ำมัน”
ระบบท่อขนส่งน้ำมันไทย
ผ่านมาแล้ว 8 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอให้ภาคเอกชนเป็นผู้พัฒนาระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นการขนส่งน้ำมันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าสอดรับกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593
โดยปัจจุบันระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือก็สำเร็จลุล่วง หลังจากจากที่บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ท่อขนส่งน้ำมันระยะที่ 1 จากคลังน้ำมันบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ไปยังคลังน้ำมันพิจิตร เมื่อเดือนมิถุนายน 2562
ทั้งยังได้ขยายต่อระยะที่ 2 จากคลังน้ำมันกำแพงเพชรไปยังคลังน้ำมันนครลำปาง พร้อมเดินเครื่องเมื่อเดือนกันยายน 2564 รวมระยะทางทั้งสิ้น 576 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย และแม่ฮ่องสอน โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 สามารถขนส่งน้ำมันทางท่อไปได้ 402 ล้านลิตร จากเป้าหมายที่ 800 ล้านลิตร
เช่นเดียวกับระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเชื่อมต่อจากคลังน้ำมันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (Thappline) ที่จังหวัดสระบุรี ไปยังคลังน้ำมันของ TPN ที่จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนล่าง รวมถึงเป็นเส้นทางเชื่อมสู่ประเทศลาว ทางเมืองเวียงจันทน์ สะหวันนะเขต และท่าแขก ในอนาคต
เปิดโครงการที่ 3 ของ FPT
นายเจษฎ์ ทูปิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด กล่าวว่า ได้เตรียมโครงการที่ 3 ที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่อขนส่งน้ำมันภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการเชื่อมต่อท่อขนส่งน้ำมันระหว่างสระบุรีและอ่างทองที่จะช่วยให้ระบบขนส่งภาคเหนือสามารถรับน้ำมันจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้
รวมถึงเพิ่มศักยภาพการจ่ายน้ำมันส่งออกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้ผ่านคลังน้ำมันลำปาง พิจิตร และขอนแก่น ด้วยงบฯลงทุน 1,200 ล้านบาท กับระยะทาง 52 กิโลเมตร
ในปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาด้านวิศวกรรม รวมถึงได้รับอนุญาตพื้นที่จากกรมทางหลวง ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งตอนนี้เตรียมจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ล่วงหน้า เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567
นอกจากนี้ยังประเมินแล้วว่า หลังการเชื่อมท่อแล้วเสร็จจะสามารถขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือได้ถึง 1,574 ล้านลิตรต่อปี จากปริมาณการใช้น้ำมันในภาคเหนือ 3,200 ล้านลิตรต่อปี และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเป็น 45% ของตลาดน้ำมันภาคเหนือ จากเดิมที่ 24%
สำหรับราคาค่าผ่านท่อ นายเจษฎ์อธิบายว่า ระยะทางจากสระบุรีไปอ่างทอง 52 กม. และระยะทางจากบางปะอินไปอ่างทองนั้น ระยะทางเท่ากันพอดีเป็นเหมือนสามเหลี่ยม ฉะนั้น อัตราค่าผ่านท่อจะยังคงรักษาระดับราคาไว้เท่าเดิม
“โดยจากบางปะอินไปพิจิตร อัตราค่าผ่านท่อจะอยู่ที่ 25 สตางค์ต่อลิตร ถ้าจากบางปะอินไปลำปางจะอยู่ที่ 52 สตางค์ต่อลิตร เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถจากบางปะอินไปพิจิตรที่ 43 สตางค์ต่อลิตร พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายประมาณ 18 สตางค์ต่อลิตร”
ช่วยน้ำมันราคาเดียวทั่วไทย
นายเจษฎ์กล่าวว่า การใช้ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อนอกจากจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศแล้ว ยังมีโอกาสที่จะทำให้ราคาน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศมีราคาใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต เพราะค่าขนส่งที่ถูกกว่าการขนส่งรูปแบบอื่นถึง 20-30 สตางค์ต่อลิตร
รวมถึงช่วยผู้ค้าน้ำมันเอกชนลดต้นทุนค่าบริหารจัดการและค่าเสื่อมสภาพในการจัดเก็บน้ำมัน เพราะสามารถมาร่วมจัดเก็บน้ำมันในคลังน้ำมันของบริษัทได้
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสามารถลดลงได้ขึ้นอยู่ที่ปริมาณการใช้ หากยังมีผู้ใช้บริการไม่มากพอจะทำให้ค่าดำเนินการต่อเดือนสูงมาก แต่ถ้าปริมาณการใช้มากพอจะเพิ่มการแข่งขันได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตจะสามารถขนส่งน้ำมันได้ 1,500 ล้านลิตรขึ้นไป
ลดค่าใช้จ่ายขนส่งทางบก
นอกเหนือจากสร้างมาตรฐานราคาน้ำมันแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางรถได้ราว 248 ล้านบาท ทั้งยังช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถขนส่งน้ำมันได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก เพราะใช้ระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการขนส่งรูปแบบอื่นที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2562-2564 สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ 54,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) หรือคิดเป็นการปลูกต้นไม้ถึง 5,684,200 ต้น ซึ่งเพิ่มพื้นที่ป่าได้ราว 2%
“ค่าไฟในการขนส่ง หากค่าไฟมีราคาแพงขึ้นก็ไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบต่อราคาน้ำมันหรือค่าขนส่ง เนื่องจากปกติแล้วในการดำเนินงานจะใช้ไฟเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 70 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินที่ได้คืนมาจากการลดการขนส่งทางรถขนน้ำมันที่ 248 ล้านบาท ก็ยังคงมีเงินเพียงพอในส่วนนี้”
เตรียมชงบอร์ดท่อขนส่งน้ำมัน
นายวุฒิทัต ตันติเวสส รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า การขนส่งน้ำมันส่วนใหญ่จะเป็นการใช้รถขนส่งน้ำมันวิ่งถึง 52% ขณะที่ใช้การท่อขนส่งน้ำมันผสมกับการขนส่งทางรถ หรือรถไฟอยู่ที่ 36% จากการขนส่งน้ำมันทั่วประเทศประมาณ 30,000 ล้านลิตรต่อปี
“แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเรื่องการขนส่งทางท่อที่จะเกิดขึ้นจริง ยังคงต้องอาศัยการขนส่งทางรถและรถไฟเพราะการขนส่งทางท่อไม่สามารถส่งไปยังผู้ใช้ปลายทางได้โดยตรงไม่เหมือนก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นหากต้องการผลักดันให้การขนส่งทางท่อเกิดขึ้น จะต้องให้รถหรือรถไฟวิ่งในลักษณะของ zoning ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมเพราะสามารถแบ่งระยะทางขนส่งทางรถให้ลดลง”
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานเองก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ เรื่องรูปแบบการบริหารจัดการระบบท่อแบบ single operator เพื่อผลักดันให้ไทยสู่ศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งกัมพชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม เพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบกับรัฐบาลใหม่ แล้วจึงตั้งคณะทำงานเหมือนบอร์ดอีวี เพื่อผลักดันการทำงานให้เกิดขึ้นได้จริง