ธรรมนัสเร่งเดินหน้านโยบายรัฐบาลเศรษฐา ปั๊ม GDP ภาคประมง 1.3 แสนล้าน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

“ธรรมนัส” รมว.เกษตรฯ เร่งเดินหน้านโยบายรัฐบาล นรม.เศรษฐา “โครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ 62 จังหวัด 62 ล้านตัว” เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ ดูแลเกษตรกรฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ปั๊ม GDP ภาคประมง 1.3 แสนล้าน

วันที่ 21 กันยายน 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานครบรอบวันสถาปนากรมประมง ปีที่ 97 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “97 ปี กรมประมง สร้าง เสริม เพิ่ม ยก พัฒนา ประมงไทย ก้าวสู่ศตวรรษใหม่อย่างยั่งยืน” และ “วันประมงแห่งชาติ” ประจำปี 2566 ว่า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งเดินหน้านโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาและบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่ภาคการประมงของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

โดยประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ภาคการประมง สูงถึง 130,313 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากปี 2564 และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ควรมีการพัฒนาการผลิตสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่ได้มาตรฐาน

ตลอดจนป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพประมง ให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง

พร้อมกันนี้ได้ดำเนินโครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ 62 จังหวัด 62 ล้านตัว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนและชาวประมง และเพื่อดูแลเกษตรกรฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนมีความอยู่ดีมีสุข ซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำที่ปล่อยในลุ่มน้ำสำคัญ จะเป็นสัตว์น้ำต้นทุนที่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างสมดุลระบบนิเวศ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับสิ่งแวดล้อม

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

“วันนี้เป็นวันประมงแห่งชาติ ครบรอบปีที่ 40 จึงมีการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 4 แห่ง ใน 4 ภาค แห่งละ 300,000 ตัว จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,200,000 ตัว ได้แก่

1) บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 2) กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา 3) หนองหาร จังหวัดสกลนคร และ 4) เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งหมด 8 ชนิด ประกอบด้วย ปลาตะพัด ปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนขาว ปลาบ้า ปลากระแห ปลาเทพา ปลาสร้อยขาว และปลาหมอตาล”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และชาวประมง ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นในแต่ละสาขา

ทั้งประเภทบุคคลทางการเกษตรดีเด่น ประเภทสถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรดีเด่นด้านการประมงที่ได้รับโล่รางวัลในวันนี้ภาคการประมงนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

โดยผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำการประมง ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรของประเทศไทยและประชากรโลก

สำหรับวันครบรอบวันสถาปนากรมประมง ปีที่ 97 ในปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรประมง ส่งเสริมการผลิตและการตลาดอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการสร้าง เสริม เพิ่ม ยก พัฒนา ประมงไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการด้านการประมง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน