กรมชลฯ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ-ฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 3-7 ต.ค. 66 นี้

ข้อมูลภาพ กรมชลประทาน

กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำรับมือฝนตกหนักอีกระลอก ช่วงวันที่ 3-7 ต.ค. 2566 นี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ ดินถล่มในพื้นที่ เชียงใหม่ ตาก แม่น้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม ล่าสุดเตรียมบุคลากร เครื่องมือ ติดตามวางแผนช่วยเหลือประชาชน

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 รายงานข่าวจาก กรมชลประทาน ล่าสุดได้เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ตามประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เรื่อง “เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง” ในช่วงวันที่ 3-7 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมบริเวณภาคเหนือและทำให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นและมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 3-6 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

สทนช. ได้วิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นส่งผลให้ น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำโดยมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง

  • ระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร ลำพูน แพร่ ลำปาง
  • เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่
  • แม่น้ำวัง อำเภอสามเงา และบ้านตาก จังหวัดตาก
  • แม่น้ำยม อำเภอสวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
  • แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,200-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1-1.5 เมตร
ข้อมูลภาพ กรมชลประทาน

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทาน เพื่อเป็นการหน่วงน้ำ ที่ไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสายหลักให้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการจัดจราจรทางน้ำเพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากลงมายังแม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำชี-มูล

พร้อมทั้งได้สั่งการให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง