
กรมชลประทาน บูรณาการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เกาะติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา
วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางครั้งที่ 1/2566 พร้อมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
- โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย 403,981 ราย
- “จงจื่อ” ยักษ์ธนาคารเงาจีน แจ้งล้มละลายพร้อมกองหนี้ 460,000 ล้านหยวน
- โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ รวมทั้งสิ้น 3,007 ราย
โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบและพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ในการนี้ ดร.สุรสีห์ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน พร้อมประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบน เตือนประชาชนริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 60 เซนติเมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในระยะนี้ยังคงมีฝนตกหนักและหนักมากบางแห่ง อาจทำให้มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำในแม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยที่สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,500-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม.ต่อวินาที) ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงมาสมทบกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง อีกประมาณ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,600-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทาน จะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ
ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อน มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20-60 เซนติเมตร ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนริมน้ำบางแห่งได้
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาปัจจุบัน (4 ต.ค. 66) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,673 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,449 ลบ.ม.ต่อวินาที หากปริมาณน้ำเหนือเพิ่มสูงขึ้นและจะส่งผลต่อปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบในระยะต่อไป