ไทยท่ามกลางศึก แนวรบการค้าปะทุ มะกันปะทะจีน

ภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อกฎหมายใหม่ ต่อเนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมอีก 1,300 รายการ โดยเน้นไปยังกลุ่มสินค้าที่จีนได้เปรียบทางเทคโนโลยี จากนั้นจีนก็ได้โต้กลับสหรัฐบ้าง โดยมีแผนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 128 รายการ เช่น เศษเหล็กและอะลูมิเนียม รวมทั้งพวกหมู ผลไม้ เพื่อตอบโต้รัฐบาลสหรัฐ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการตอบโต้กลับครั้งแรกของทางการจีนในเรื่องของการทำสงครามการค้าระหว่างสองประเทศนี้ และล่าสุดทางจีนกำลังเตรียมเก็บภาษีเพิ่มสินค้าบางรายการ เช่น ถั่วเหลือง เครื่องบินที่น้ำหนักน้อยกว่า 45 ตัน วิสกี้ ฯลฯ เพราะจีนถือเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่ของสหรัฐนั้น

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายทั้งสหรัฐและจีนต่างตอบโต้ทางการค้าด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจนเกิดเป็นความวิตกไปทั่วโลกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ลุกลามเป็นสงครามการค้า แต่น่าจะแค่สงครามภาษี และเชื่อว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ และผลอาจแค่ทบทวนหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมด เนื่องจากผลทางจิตวิทยาได้เกิดต่อความวิตกไปทั่วโลก และ 2 ประเทศเห็นแล้วว่าไม่เกิดผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น กลุ่มสินค้าที่จีนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มกับสหรัฐน่าเป็นบวกต่อไทยมากกว่ากลุ่มสินค้าที่สหรัฐเก็บจากจีน เพราะสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีเป็นสินค้าที่ไทยผลิตได้ดี เช่น ผักผลไม้แปรรูป ถั่วเหลือง เอทานอล และผลิตภัณฑ์จากหมู เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าสหรัฐเป็นสินค้าเทคโนโลยีและไอทีเป็นหลัก ซึ่งจะกระทบทางอ้อมกับผู้ผลิตชิ้นส่วน อีกทั้งในปี 2562 จะมีการลดภาษีเป็น 0% เป็นส่วนใหญ่ ในกรอบความตกลงเปิดเสรีการค้าอาเซียน-จีน ก็จะเกิดการไหลเข้าของสินค้าจีนมาอาเซียนรวมถึงไทยมากขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาสินค้าทะลักเข้าอาเซียนและไทย เป็นเรื่องภายในที่ประเทศนั้นๆ ต้องดูแล

ในส่วนทางออกของไทย ระยะสั้นต้องเร่งพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับตลาด และหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น ตลาดอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป รวมถึงออกมาตรการดูแลสินค้าไร้คุณภาพเข้าไทย ใช้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าทั้งกรอบความร่วมมือเดิมๆ และเปิดเจรจากรอบความร่วมมือใหม่ ในระยะยาวต้องรุกในเรื่องการเป็นหุ้นส่วนและการลงทุนนอกประเทศมากขึ้น

เชื่อว่าอย่างไร สหรัฐภายใต้นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องใช้มาตรการทางการค้าออกมาต่อเนื่อง เพราะเป็นแนวทางที่ได้หาเสียงไว้ตั้งแต่แรก ที่จะลดการขาดดุลการค้า และสหรัฐต้องเป็นหนึ่ง ยิ่งใกล้เลือกตั้งในรอบต่อไปของสหรัฐ นโยบายที่พูดไว้ก็ต้องดำเนินการ การเจรจาย่อมเกิดขึ้นแต่ก็ต้องมีแลกเปลี่ยนกัน ดังนั้น ไม่ว่าสหรัฐจะมีอะไรไทยก็ต้องปรับตัวอยู่แล้วŽ นายอัทธ์กล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งสัญญาณมานานแล้วว่า 16 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐให้ส่งผู้แทนการค้าไปเจรจา ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ แต่สหรัฐไม่ได้กดดันไทยเพิ่มเติม โดยจะเห็นว่าสหรัฐต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ให้กับไทยต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นสหรัฐไม่ได้ตั้งใจจะใช้กลไกการขาดดุลการค้ามาเป็นตัวทำลายความผูกพันทางเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีที่สหรัฐจะต้องเรียกเก็บภาษีจากจีน เนื่องจากจีนเกินดุลสหรัฐมาก และช่วงเลือกตั้งนายทรัมป์พูดถึงจีนค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นการประกาศขึ้นภาษีเหล็กเพื่อจ้างงานภายในประเทศก็เป็นเรื่องการเมืองภายใน และทุกประเทศก็เจอหมดไม่เฉพาะจีน ยกเว้นกรอบตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า)

การตอบโต้กันระหว่างสหรัฐกับจีน ล่าสุดทางกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐได้เปิดการเจรจาหรือเปิดเวทีรอบใหม่ที่เข้มข้นขึ้น เพื่อประโยชน์ของทุกประเทศ และทำให้ชาวสหรัฐเห็นว่านายทรัมป์ได้ทำตามนโยบาย ซึ่งคงจะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเพราะนโยบายการค้าของสหรัฐ ดังนั้น จึงประเมินว่าสงครามทางการค้าจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของจีนที่ส่งสินค้าไปสหรัฐอาจจะน้อยลงและขยายตัวไม่สูงตามเดิม แต่สหรัฐมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและการเตรียมขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่าถึงภาษีจะแพงแต่จีนก็ส่งสินค้าไปได้ ดังนั้น ผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นทั้งในแง่ภาษีเหล็กและซัพพลายเชนจึงไม่น่าจะสูง ธุรกิจน่าจะปรับตัวได้Ž นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในขณะนี้อาจจะมีผลทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อสินค้าโภคภัณฑ์และยางพาราในตลาดโลก เนื่องจากนักลงทุนกังวลเรื่องสงครามทางการค้า ทำให้ราคาสินค้าทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้ปรับตัวขึ้น จึงอาจจะต้องรอดูสถานการณ์ในช่วง 1-2 เดือนหลังจากนี้ว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศทางการค้าหรือไม่

ขณะที่นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนขึ้น ซึ่งรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศได้ประกาศออกมาแล้วว่า สหรัฐไม่อยากนำเข้าสินค้าจากจีน เช่นเดียวกับจีนที่ไม่อยากนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งมีรายการของสินค้าหลายประเภทที่ทั้ง 2 ประเทศไม่ยอมกัน และเมื่อยิ่งมีการกีดกันสินค้ากันมากเท่าใด โอกาสของประเทศโลกที่สามก็เปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเมื่อภาคการผลิตของทั้งสหรัฐและจีนยังต้องดำเนินต่อไป ทั้ง 2 ประเทศจึงยังจำเป็นต้องหาแหล่งสินค้าจากประเทศอื่น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปแทรกในส่วนนี้ได้ รวมถึงประเทศอื่นๆ หากเอกชนมีศักยภาพในการเข้าไปต่อรองธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ยังเป็นช่องว่างดังกล่าว หรือทางภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนให้ข้อตกลงเกิดขึ้น ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

โอกาสอีกด้าน คือการลงทุนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น เห็นได้จากจีน รัสเซีย หรือเกาหลีเหนือ ที่มีความมั่นคงทางการเมืองมาก ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยเริ่มง่อนแง่น อาทิ เยอรมนี หลังจากการเลือกตั้งก็ยังไม่เสถียรเท่าไรนัก ทั้งนี้ การเกิดสงครามทางการค้าอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนได้ เช่น ประเทศไหนที่มีที่ตั้งที่ดี มีเสถียรภาพ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามการค้า ก็มีโอกาสที่เงินลงทุนจะไหลเข้ามามาก เมื่อการต่อสู้ของสหรัฐและจีนยังไม่แน่ชัดว่าจะยุติเมื่อไร การลงทุนในประเทศโลกที่สามก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งประเทศเหล่านี้ อาทิ เวียดนาม หรือแม้แต่ไทย ที่มียุทธศาสตร์ทางด้านที่ตั้งอยู่ในระดับดีมาก อีกทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าเป็นตลาดในอนาคตอยู่แล้ว เนื่องจากมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีหากภาครัฐมีศักยภาพในการดึงภาคการลงทุนมาได้

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่เกิดขึ้นก็ทำเกิดความเสี่ยงกับไทยเช่นเดียวกัน เนื่องจากไทยจะถูกผลกระทบต่อเนื่องจากการที่จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐไม่ได้ ทำให้สินค้าขั้นกลางบางส่วนที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อประกอบชิ้นส่วน และส่งต่อไปยังสหรัฐนั้นจะถูกผลกระทบอย่างมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวล
ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนสินค้าหรือหันเหไปหาตลาดอื่นได้ ก็ต้องรีบทำ

 

ที่มา : สกู้ปข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์มติชน