energy symposium 2023 เส้นทางประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero

พลังงานทดแทน

ปัจจุบันทุกประเทศล้วนตื่นตัวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น จึงร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยให้ความสำคัญกับการเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593

จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ภาคพลังงานของไทยซึ่งเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่า 70% ต้องเริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาวิชาการประจำปี energy symposium 2023 ได้มีการอภิปราย “ทิศทางแผนพลังงานชาติฉบับใหม่…สู่แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนประเทศไทย”

แผนพลังงานชาติ ลดคาร์บอน

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การจะเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ในภาพรวมของไทยจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ที่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e)

ซึ่งภาคพลังงานต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปัจจุบันที่ 250 ถึง 260 ล้าน tCO2e ให้มาอยู่ที่ 95.50 ล้าน tCO2e ให้ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการปรับพอร์ต เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (renewable energy : RE) ให้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% จากปัจจุบันที่มีไม่ถึง 30%

รวมถึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system : ESS) หรือการกักเก็บคาร์บอนเพื่อใช้ประโยชน์ (carbon capture utilization and storage : CCUS)

ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องมีแผนพัฒนาพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP) ประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1) smart infrastructure ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและด้านระบบสื่อสารและดิจิทัลเพื่อรองรับการบริหารจัดการสมัยใหม่ตามแนวโน้มเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

ต่อมา 2) market and price structure ปรับโครงสร้างตลาดและโครงสร้างราคาให้สามารถตอบโจทย์การใช้แหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์รวมถึงนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เข้าร่วมบริหารจัดการในตลาดพลังงาน และสุดท้าย 3) law and regulations ต้องปรับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อรองรับการส่งเสริมตลาดการผลิตและใช้พลังงานผ่านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีกระจายศูนย์

“กรอบแผนพลังงานชาติ มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาดและเป็น Net Zero โดยตั้งเป้าไว้ที่เพิ่มสัดส่วนการใช้ renewable energy with storage ให้มากกว่า 50% ในระดับ grid scale ชุมชนและผู้บริโภค ต่อมาคือการสนับสนุนโครงสร้างและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า”

สุดท้ายคือ นโยบาย 4D1E เพื่อยกระดับโครงข่ายพลังงานให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงทั้งระบบ อาทิ นโยบายการพัฒนา Grid Flexibility และระบบ Smart Grid ซึ่งตอนนี้แผนพลังงานชาติกำลังอยู่ระหว่างทำรายละเอียดและเตรียมเสนอภาพรวมเพื่อขออนุมัติกับทางฝ่ายนโยบาย

พลังงานชาติ

EEP ลดค่าความเข้มใช้พลังงาน

แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) เป็นหนึ่งใน 5 แผนย่อยภายใต้แผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รับผิดชอบดูแล

ดร.ณัฐพล รุ่นประแสง หัวหน้ากลุ่มกำหนดและควบคุมมาตรฐานอาคารใหม่ กองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน พพ. กล่าวถึง แนวคิดการจัดทำ EEP ว่า จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย โดยลดค่าความเข้มข้นการใช้พลังงาน (energy intensity : EI) ลง 40% ภายในปี 2593 หรือคิดเป็น 64,340 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)

พร้อมปรับสมมุติฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงและคาดการณ์ในอนาคต ตลอดจนมีมาตรการเฉพาะในแต่ละสาขาเศรษฐกิจและเพิ่มมาตรการใหม่เพื่อกำกับดูแลประสิทธิภาพด้านพลังงานและด้านซัพพลาย (supply side)

“กลยุทธ์ของกระทรวงพลังงาน คือ กฎหมายภาคบังคับ เช่น การบังคับใช้มาตรการจัดการพลังงานในโรงงานหรืออาคารควบคุม การบังคับเกณฑ์มาตรฐานด้านพลังงาน (energy code) ซึ่งกลุ่มโรงงานกำลังศึกษาอยู่ว่าโรงงาน อาคาร บ้านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ หรือเกษตรที่จะสร้างใหม่ต่อไป จะต้องมีวิธีการประหยัดพลังงานอย่างไรบ้าง”

ส่วนมาตรการส่งเสริมก็จะเป็นมาตรการด้านภาษีและนวัตกรรม รวมถึงมีมาตรการใหม่ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในระบบพลังงานทดแทน เพื่อรักษาประสิทธิภาพเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลมาเป็น RE

Grid Modernization ต้องมา

นายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแหล่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีการเดินหน้ายุทธศาสตร์ Triple S ได้แก่ sources transformation คือ การเปลี่ยนปรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้า

Sink Co-creation ที่ต้องการเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ support measures mechanism คือการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โดย sources transformation เน้นในเรื่อง RE ผ่านการพัฒนา hydro-floating solar hybrid ผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ที่กำลังอยู่ในการวิจัยพัฒนาทำเป็นไฮบริด ซึ่งต้องมีการควบคุมระบบส่งไฟฟ้า

ทำให้ต้องทำเรื่อง grid modernization ที่พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมุ่งสู่ระบบสมาร์ทกริด และ flexible มีระบบพยากรณ์ที่แม่นยำและบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่รักษาเสถียรภาพรองรับความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่เพิ่มมากขึ้น

“ตอนนี้อย่างที่ทุกคนรู้ว่า RE เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เดิมทีเราเข้าใจว่า RE จ่ายและโหลดในบริเวณนั้น แต่ความเป็นจริงแล้วแหล่งผลิตของ RE อยู่ห่างไกลจากผู้ใช้ไฟฟ้า นี่คือโจทย์ใหญ่ทำให้สิ่งที่ตามมาคือนอกจากเราผลิต RE ขึ้นมาแล้ว เราจะต้องหาวิธีส่งไฟไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างไร”

ทั้งนี้ จากการพยากรณ์ของ กฟผคาดว่า ตั้งแต่ปี 2573 ระบบสายส่งของ กฟผ.จะต้องเชื่อมโยงและมีความแม่นยำ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานเอาไว้ ซึ่งเราเองจำเป็นจะต้องมุ่งไปที่เรื่องของ grid modernization เพื่อสนับสนุนให้เกิด RE อย่างเป็นระบบ

“เมื่ออนาคตมีความไม่แน่นอน สิ่งที่เราจะช่วยได้ก็คือโรงไฟฟ้าของ กฟผ.จะเป็นไฮบริด เพราะโรงไฟฟ้า RE ที่เราออกแบบมาจะกลายเป็นความมั่นคงให้กับระบบ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนกระแสของไฟฟ้าได้ตามความต้องการใช้ไฟหรือรักษาเสถียรภาพของพลังงานให้สามารถจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเงื่อนไขด้านสภาพอากาศ”

โดย กฟผ.เพิ่งเปิดศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจาก RE (REFC) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (DRCC) ซึ่งสำเร็จได้ด้วยดี และคาดว่าจะกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความแม่นยำและครอบคลุมสำหรับการพยากรณ์และควบคุมการผลิตทั่วประเทศ

“คีย์หลักของ grid modernization คือการเชื่อมโยงและการพยากรณ์ เพราะในอนาคตถ้าเรามี smart grid แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ก็สูญเปล่า เพราะว่าข้อมูลของแต่ละ smart grid จะมีค่าต่างกัน ในอนาคตเราต้องฝากความหวังให้มีหน่วยงานมาดูแลเรื่องมาตรฐาน smart grid เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง Micro Grid Smart Grid และศูนย์ของการไฟฟ้า ซึ่งควรเริ่มทำแต่แรก เพราะหากทำทีหลังค่าใช้จ่ายจะสูงมาก”