TCP หนุนไทยสู่ Net Zero ตั้งเป้าปี’67 บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100%

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

กลุ่มธุรกิจ TCP กับเป้าหมายความยั่งยืน “เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม” หนุนไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ตั้งเป้าภายในปี 2567 พัฒนาบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% 

วันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ ไฮ่ x DHC แมนซั่ม แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์ เพียวริคุ ซันสแนค และวอริเออร์ ได้จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนขึ้น ภายใต้แนวคิด Net Zero Transition…From Commitment to Action หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ เพื่อปลุกพลังอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เร่งลงมือปฏิบัติเพื่อหนุนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นทั้งภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกษตรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จึงมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ระดับโลกที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกบททดสอบหนึ่งสำหรับภาคธุรกิจ เปลี่ยนจากการดำเนินการโดยสมัครใจไปสู่ข้อกำหนดที่เป็นทางการร่วมกัน

รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (2022) ยังแนะนำทางออกให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจหรือ GDP เติบโตขึ้น 1.2% จากปีฐาน หรือเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% ต่อปีภายในปี 2030 และมีโอกาสสร้างงานได้ถึง 160,000 ตำแหน่ง

คำถามที่เป็นหัวใจหลักของการประชุม TCP Sustainability Forum ในปีนี้คือ ไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างไร ปีนี้เป็นปีแรกที่องค์การสหประชาชาติประกาศว่า ถึงจุดสิ้นสุด Global Warming แต่เป็นจุดเริ่มต้นของ Global Boiling ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตระหนัก และต้องเดินหน้าช่วยกันรักษาโลก

Advertisment

นายสราวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจ TCP โจทย์ของเราไม่ได้มองการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เท่านั้น แต่ต้องการรวมพลังภาคส่วนต่าง ๆ เปลี่ยนพันธสัญญาไปให้ถึงการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง มากกว่านั้นคือการสร้าง “อัตราเร่ง” โดยจากนี้ต้องมีความชัดเจนในการเดินทางไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065

“การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ของ TCP คือการเปลี่ยน Mindset เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม เราไม่ได้แข่งกับคนอื่น แต่เป็นการแข่งกับตัวเอง เราพยายามมองหาจุดร่วมระหว่างสิ่งที่จะต้องเปลี่ยน ว่าจะพาตัวเองไปในทิศทางไหน โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตไปได้ ควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้เป้าหมายใหญ่ คือ ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า โดยมีเป้าหมายย่อยและแผนงานรองรับ รวมถึงประเมินผลการทำงานและปรับทิศการทำงานอย่างต่อเนื่อง”

เป้าหมาย บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100%

ทั้งนี้ TCP ให้ความสำคัญกับการปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก โดยได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่ 

1.เศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2024 ตั้งเป้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดความหนาของกระป๋องอะลูมิเนียม การลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว และขวดพลาสติกเพื่อลดการใช้ทรัพยากร

Advertisment

“สำหรับขวดแก้ว ยังเป็นความท้าทายอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% ด้วยวิธีการหลอม แต่ก็ยังมีปัญหาอีกมากมาย เช่น ในกระบวนการผลิตแก้ว ต้องใช้เศษแก้ว ไม่ใช้ไม่ได้ ปัญหาที่โรงผลิตแก้วทุกโรงเจอคือหาเศษแก้วไม่ได้ มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ แล้วราคาเศษแก้วก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้ผมมองว่ายังท้าทาย ต้องทำงานต่อไป ซึ่งก็มีคนพร้อมรับซื้อเศษแก้วเยอะมาก และมีธุรกิจมากกว่า 1 รายที่ตั้งบริษัทเพื่อซื้อแก้ว” 

2.ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 จากทุกกระบวนการทำงานในธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ

3.การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากธุรกิจเราเกี่ยวข้องกับน้ำ จึงตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2030 

ความท้ายด้านพลังงาน

“สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับการมุ่งสู่การทำธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนนั้น คือเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่ต้องไปด้วยกันพร้อม ๆ กับคู่ค้า ว่ามีแผนชัดเจนไหม มีเป้าหรือไม่อย่างไร อีกด้านคือขนส่ง สินค้าเรายังไงก็ต้องส่ง วันนี้ EV เป็นคำตอบจริงหรือไม่ การใช้ EV ไฟฟ้าเอามาจากไหน ต้องรู้แหล่งที่มาด้วย ถึงตรงนี้ถ้ามองถึงภาพรวมความยั่งยืนระดับประเทศ ผมมองว่ายังเป็นความท้าทาย

ถามว่าทำไมตั้งเป้าตัวเลขไกลมากคือปี 2025 บ้าง 2050 บ้าง เพราะทางวิทยาศาสตร์แล้ว มันยังตอบโจทย์ไม่หมด ทำได้ดีขึ้นแน่ ๆ แต่ถามว่าเป้าหมายเรื่องคาร์บอนเป็นศูนย์

ตอนนี้ยังไม่มีใครคิดว่าจะทำได้แน่ ๆ ตราบใดที่เรายังใช้พลังงานอยู่ ใช้ไฟฟ้าอยู่ พนักงานต้องนั่งรถมาทำงานในบริษัท มันก็ยังสร้างคาร์บอนตลอด แม้ว่ามันจะมีวิธีการ มีงานวิจัยออกมาเต็มไปหมด แต่ผมเชื่อมั่นว่ามันจะค่อย ๆ มีวิธี เพราะทุกคนยินดีที่จะทำ เพราะเป้าหมายความยั่งยืนเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่ไม่ได้ทำเพื่อคนเดียว แต่เป็นการทำเพื่อโลก ฉะนั้นคีย์หลักของ TCP ก็คือ เราอยากเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม ถ้าเมื่อก่อนอาจจะอยากเป็นตัวเราที่เก่งกว่าเดิม แต่ตอนนี้เราอยากเก่งไปพร้อมกับเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม”