“ธรรมนัส” ปั้น 500 ตำบลต้นแบบ ปั๊มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

“ธรรมนัส” เดินหน้าอัพรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี ทะลุ 1.8 ล้านล้านบาท ตามนโยบายนายกฯ “เศรษฐา” ประกาศปั้น 500 ตำบลนำร่อง บูมสินค้าพืช-ประมง-ปศุสัตว์ดาวเด่น เชื่อมโยงตลาดส่งออกผ่าน “ทูตเกษตร” ทั่วโลก พร้อมวางบทบาท อ.ต.ก.เป็นตลาดกลางระบายสินค้าเกษตร ผนึก “สอท.” ตั้งกรรมการร่วมสร้างต้นแบบสินค้าเกษตรเป้าหมาย “มิสเตอร์” 5 สินค้าเกษตร

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของรัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในระยะเวลา 4 ปี หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านล้านบาท

กระทรวงเกษตรฯ จะมุ่งขับเคลื่อนสินค้าเกษตร ผ่านการดำเนินโครงการผลักดันการสร้างตำบลนำร่อง 200-500 ตำบล เพื่อผลักดันสินค้าเกษตรเป้าหมาย ทั้งพืช ประมง ปศุสัตว์ ที่มีความโดดเด่นในแต่ละตำบล ให้สามารถผลิตได้มีคุณภาพ สร้างรายได้จากการส่งออกกลับสู่เกษตรกร

“ผมจะทำตำบลนำร่อง จากที่รัฐให้ทำ 100 ตำบล แต่ผมจะทำ 200-500 ตำบล และมิสเตอร์ต่าง ๆ ก็จะอยู่ในนี้ เช่น มิสเตอร์พืชหลักต้องมีผู้มาดูแล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม โดยผู้จะมาเป็นมิสเตอร์ ไม่ใช่อธิบดีหรือข้าราชการเป็นประธาน แต่จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับภาคเอกชน (กรอ.ด้านการเกษตร) ตอนนี้รอลงนาม ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดมาร่วม มิสเตอร์จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและมาช่วยแนะนำเกษตรกร”

สำหรับมิสเตอร์สินค้าเกษตรจะเริ่มในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย 5 พืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด และปาล์ม โดยจะมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบแต่ละรายสินค้า เป็นผู้รวบรวมและกำหนดมาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการจำหน่าย ในระยะเร่งด่วน 100 วัน มาตรการระยะกลาง และมาตรการระยะยาว

Advertisment

“แนวทางคือ การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้เอามาใช้ได้อย่างจริงจัง โดยพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นฐานข้อมูล สินค้าเกษตรสำคัญทั้งด้านการวางแผนการผลิต เชื่อมโยงข้อมูลด้านการตลาด เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร และผู้ใช้บริการข้อมูลทางการเกษตร”

ทั้งนี้ จีดีพีภาคเกษตรมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2565 จีดีพีภาคเกษตรกรของไทยมีมูลค่า 688,780 ล้านบาท ลดลงจากเป้าหมาย ส่วนในปี 2566 นี้ คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 698,963 ล้านบาท โดยล่าสุดจีดีพีในไตรมาส 3 ขยายตัว 0.5% จากสาขาปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้

ชูทูตเกษตร-อ.ต.ก.หนุนส่งออก

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า สำหรับแผนการทำการตลาดสินค้าเกษตร จะส่งเสริมให้สามารถส่งออกได้ โดยมอบให้ทูตเกษตรที่มีอยู่ทั่วโลกเป็นผู้หาตลาดที่มีศักยภาพ และจะเพิ่มจำนวนทูตเกษตรในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกทูตเกษตรเพื่อไปประจำ

“การที่มีทูตเกษตรอยู่แล้ว เราก็จะให้กลไกนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งออกมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่มีปัญหากับพาณิชย์ เพียงแต่เรามีกลไกการทำงานอยู่ และด้านหนึ่งกระทรวงจะต้องประสานงานกับศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบตลาดจีน ว่าจะเชื่อมโยงตลาดให้กับสินค้าเกษตรของเราได้อย่างไรบ้าง”

Advertisment

นอกจากนี้ ยังมีแผนการทำการตลาดในตลาดสินค้าชุมชนภายในประเทศ โดยจะใช้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มาช่วย ด้วยการวางบทบาทให้ อ.ต.ก.เป็นตลาดกลางระบายสินค้าเกษตร และอาจจะมีการจะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กระจายสินค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งตอนนี้ได้มอบให้ อ.ต.ก.ไปทำเรื่องการตั้งบริษัทขึ้นมา

ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวต่อไปว่า ส่วนด้านการผลิตจะมีการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งมาตรการระยะสั้นและระยะกลางจะส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มทำการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง บริหารจัดการร่วมกัน และกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน ในรูปแบบศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นเครือข่าย ศพก. และแปลงใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมตามหลักการจัดสรรพื้นที่แบบโซนนิ่ง และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พืชพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำหรับมาตรการระยะยาว จะขยายเครือข่ายการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ และยกระดับเกษตรกรแปลงใหญ่เป็นผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่

ส่วนมาตรการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง และสร้างรายได้แก่เกษตรกร ในมาตรการระยะสั้น จะส่งเสริมใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน และส่งเสริมการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่ตามแนวทาง BCG Model

ส่วนมาตรการระยะกลาง กำหนดชนิดสินค้าและพื้นที่ในการ พัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยการประสานและบูรณาการกับหน่วยงานวิชาการ เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกร และเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

การบริหารจัดการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแบบเครือข่าย ให้มีการนำเครื่องจักรกลเกษตรที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการให้มีการใช้งานร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เกษตรกรถือครองเอง ผู้ลงทุนให้บริการรับจ้าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตรที่มีการใช้เครื่องจักรเดิมอยู่แล้ว ให้มีการใช้งานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพตลอดทั้งปี

และมีโอกาสในการจัดหาเครื่องจักรกลเกษตรและนวัตกรรมใหม่มาสนับสนุนให้เกษตรกรมีใช้งานครบทุกกิจกรรมการผลิต สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในเขตพื้นที่ทำการผลิตพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญ และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ

“การพิจารณาเลือกจะคัดจากทั่วทุกภูมิภาค ทั้งจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ยโสธร กำแพงเพชร อุทัยธานี ตาก นครสวรรค์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี ชัยนาท และเพชรบุรี ซึ่งจากผลการดำเนินการ พบว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมคิดเป็น 5.63% เนื่องจากเกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ”

สอท.ตอบรับแผน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายการปั้น 500 ตำบล นำร่องของกระทรวงเกษตรฯ เป็นนโยบายที่ดี โดย สอท.ได้มีการดำเนินนโยบายที่เรียกว่า ONE FTI ซึ่งมีโครงการที่สอดรับกับนโยบายนี้อยู่แล้ว เช่น การพัฒนา 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม (one province one industry) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (smart agriculture industry) ให้กระจายไปอยู่ทั่วประเทศ

โดยได้มอบหมายให้นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธาน สอท. ที่ดูแลสินค้าเกษตร ในฐานะประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (IAI) และเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เป็นผู้ประสานกับกระทรวง

พร้อมกันนี้ ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ สถาบัน IAI จะมีการจัดประชุม SynBio Consortium Conference 2023 ขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ การพัฒนา Synthetic Biology หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ทำให้เกิดธุรกิจทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และสตาร์ตอัพ ที่จะช่วยขับเคลื่อนสร้างรายได้ให้ภาคเกษตรด้วย