ไม่ถึง 2 เดือน “ธรรมนัส” แปลงโฉนด ส.ป.ก. – แก้น้ำอีอีซีฉลุย

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
สัมภาษณ์

การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่า ในช่วง 4 ปีนี้นับว่าเป็นวาระหลักของรัฐบาล ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาศัยความเร็วจากประสบการณ์ ในตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าสร้างรายได้ ทำสงครามกับสินค้านำเข้าเถื่อน และยังเสริมแกร่งให้เกษตรกรได้มีโอกาสมีที่ดินทำกิน เข้าถึงแหล่งเงินทุนลืมตาอ้าปากได้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ร.อ.ธรรมนัส ” ถึงแนวทางดำเนินนโยบายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แปลงที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด ซึ่งจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 1.6 ล้านราย บนพื้นที่ 22 ล้านไร่ และความสำเร็จของการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก่อนลุยต่อไพลอตโปรเจ็กต์ 500 ตำบล

แจงปม ส.ป.ก. สู่มือกลุ่มทุน

ประเด็นที่คนเข้าใจว่าการดำเนินนโยบายแปลงที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด จะเปิดโอกาสให้กับกลุ่มทุนแบบนั้น เป็นคนที่ไม่เข้าใจและไม่รู้ข้อกฎหมาย ไม่รู้วัตถุประสงค์ของการแปลง ส.ป.ก.เป็นโฉนด การดำเนินนโยบายนี้ไม่ได้แก้กฎหมาย แต่จะใช้ประกาศของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและระเบียบที่มีอยู่

โดยอ้างอิงพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 (พ.ร.บ.ส.ป.ก. ปี 18) และฉบับแก้ไข ปี 2542 เป็นหลักในการเปลี่ยนเป็น “โฉนดเพื่อเกษตรกร”

ใครได้รับสิทธิ

หลักการ คือ เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ที่ดิน 5 ปี แต่ต้องทำประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่เอาไปขายให้บุคคลภายนอกซึ่งจะผิดกฎหมาย

“เรื่องนี้ทุกจังหวัดต้องมีข้อมูล 22 ล้านไร่ ว่ามีเกษตรกรเข้าไปทำประโยชน์จริง ๆ กี่ราย อันไหนที่มันไม่ใช่เอาไปขายให้นายทุนต้องยึดกลับมาไว้กองกลางก่อน การดึง ส.ป.ก.กลับมาทำเป็นโฉนดเหมือนเป็นการรีเช็กไปในตัวว่าคุณเอาไปใช้ทำประโยชน์จริงหรือเปล่า”

ขายต่อ-เปลี่ยนมือ ส.ป.ก.คุม

หลังจากที่เปลี่ยนเป็นโฉนดแล้วจะเปลี่ยนมือซื้อขาย แต่จะต้องเป็นไปเพื่อทำการเกษตรเท่านั้น

ที่ดินที่ได้รับอนุญาตจัดสรรจะอยู่ที่รายละ 50 ไร่เท่านั้น และยังมีระเบียบอื่นอีกเยอะที่จะป้องกันไม่อยู่ในมือกลุ่มทุนได้

“ถ้าเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกฟาร์มของ contract farming ก็ได้แค่ 50 ไร่เท่านั้น แต่ถ้าจะไปกว้านซื้อจากเกษตรกร 50 คน คนละ 50 ไร่ มารวมกัน อันนี้มีกฎหมายนอมินีไม่ได้ เพราะความแตกต่างระหว่างโฉนด ส.ป.ก. ซึ่งไม่ใช่โฉนดของกระทรวงมหาดไทย คือ โฉนดนี้ ส.ป.ก.เป็นนายทะเบียน ซึ่งการจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องมีการป้องกันเพื่อไม่ให้ไปตกในมือกลุ่มทุน”

“ผมได้ให้การบ้านไปกับทุกจังหวัดจะมีการประชุมในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 หลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะออกมาเป็นกฎกระทรวง หรือประกาศ ภายใต้ พ.ร.บ.ส.ป.ก. จึงไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ เพราะไม่ได้ทำกฎหมายใหม่”

จดจำนองเข้าถึงแหล่งทุนได้

“ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ คือ หลังจากแปลงที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนดแล้วจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ทุกประเภท เปิดกว้าง จากที่ผ่านมาได้เฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ขอแล้วได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะสถาบันการเงินอื่นไม่รับ เนื่องจากสิทธิ ส.ป.ก. เป็นสิทธิในการทำประโยชน์เท่านั้น”

แต่เมื่อแปลงเป็นโฉนดแล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแบงก์ แบงก์ก็อาจจะสามารถยึดได้ โฉนดของเรายังยึดหลักตามกฎหมายของ ส.ป.ก. ไม่เหมือนกับโฉนดของมหาดไทย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีเงื่อนไขของแบงก์ และ ส.ป.ก.จะต้องไปคุยกันและทำ MOU ร่วมกันในลำดับต่อไป

ราคาประเมินที่ดิน ส.ป.ก.

อนุกรรมการด้านกฎหมายกำลังขับเคลื่อนเรื่องการกำหนดราคาประเมินที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมาที่ดิน ส.ป.ก.ให้เฉพาะสิทธิในการครอบครอง ทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน และส่งผลต่อราคาที่ดิน ส.ป.ก.อาจจะต่างจากราคาประเมินที่ดินทั่วไป

ต่อไปสำหรับการตีราคาที่ดินก็จะต้องประเมินตามแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ตามทำเล กรรมวิธีต่าง ๆ จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในวันที่ 15 ธันวาคม 2566

ต่อยอดสู่กองทุน

ที่ผ่านมาในต่างจังหวัดหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างก็มีที่ดิน ส.ป.ก.ที่ถูกแปลงไปเป็นชุมชนและย่านการค้า มีรายได้จากการปล่อยเก็บค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก. ที่ผ่านมามีการเก็บค่าเช่าต่าง ๆ ได้ประมาณปีละ 1,000 กว่าล้าน เอาเงินเข้ากองทุน ส.ป.ก. เพราะเงินจำนวนนี้จะกลับไปสู่เกษตรกร

“เวลาที่เราได้ที่ดินมาจากกรมอุทยานฯ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้มาเป็นแท่ง ๆ จะต้องมาจำแนกที่ดินว่าตรงส่วนไหนเป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน อย่างกรณีชุมชน เขาอยู่มาก่อนที่เราจะได้ที่ดิน ส.ป.ก. จะไปไล่ทุบแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ผมไม่เห็นด้วยกับการไปทำลายล้าง แต่ทำอย่างไรจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

สถานะกองทุน ส.ป.ก. ก่อนหน้านี้มีประมาณ 5 พันล้าน สามารถนำมาพัฒนาสร้างประโยชน์ได้ หากเราโปร่งใสและตรวจสอบได้ การใช้เงินกองทุนก็ไม่ต้องไปกลัวอะไร ถ้าเราทำระบบทั้งหมดตัวเลขรายได้เข้าสู่กองทุนจะมหาศาลก็สามารถนำเงินทุนเหล่านี้ไปแบ่งให้กับเกษตรกรได้

ผุดไพลอต 200-500 ตำบล

ที่ผ่านมาส.ป.ก.ทำหน้าที่จัดสรรที่ดินแต่ไม่เคยเช็กว่าเกษตรกรเอาไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง แต่ต่อไปเราจะบูรณาการ เรากำลังจะทำโครงการนำร่อง (pilot project) ใน 200-500 ตำบล ถ้าเอาที่ดิน ส.ป.ก.มาอยู่ในโครงการนี้ ทุกกรมก็จะต้องมาช่วยกันดู ทั้งปศุสัตว์ ประมง พืชไร่ พืชสวน แต่ต้องบูรณาการว่าทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ และต้องมีการวัดผลในการทำงานด้วย

“แต่ระหว่างนี้จนถึง 15 ธ.ค. ผมให้ ส.ป.ก.ทุกจังหวัดลงพื้นที่ จะต้องไปสำรวจดูที่เกษตรกรทุกจังหวัด ใช่ตัวคนถือ ทำเกษตรจริงไหม ถ้าใช้เกิน 5 ปีแล้วยังเป็นลูกเป็นหลานของเจ้าเดิมหรือเปล่า ในแต่ละจังหวัด ส.ป.ก.ต้องวิ่งไปหาชาวบ้าน เพราะเราอนุมัติกองทุนจ้างช่างรังวัดมาช่วย เพื่อจะนำประโยชน์จากการรวบรวมข้อมูล big data ต่อยอดไปสู่ทำการแผนที่ agri map ที่จะสร้างประสิทธิภาพจากการใช้ประโยชน์สูงสุดในที่ดิน”

ภัยแล้ง

สำหรับปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ปีนี้ทุกคนตื่นเต้นกับอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ เร่งวางแผนรับมือ แต่สภาพความเป็นจริงความไม่แน่นอนของภูมิอากาศทำให้ฝนตกลงมา ขณะนี้อ่างหลายอ่างเต็ม ต้องใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำช่วย แผนบริหารจัดการน้ำจะต้องรองรับทั้งเวลาเกิดน้ำหลากน้ำแล้ง แผนก็คืออย่าระบายน้ำ จนลืมไปว่าอาจจะเกิดภัยแล้ง

“ผมมีนโยบายในการบริหารจัดการน้ำ จะต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการบริหารจัดการพื้นที่สูงด้วย เพราะน้ำหลากกระทบบางหมู่บ้าน บางพื้นที่เป็นพื้นที่ภูเขาหัวโล้น ถ้าเราไปส่งเสริมให้เขาปลูกต้นไม้ก็จะมีผลทำให้เกิดการชะลอน้ำที่จะไหลลงมาจากที่สูง”

ส่วนการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำสายหลัก ปิง-วัง-ยม-น่าน นั้นมีระบบการบริหารจัดการน้ำอยู่แล้ว มีลำน้ำสาขา กรมชลประทานมีแผนที่ผังน้ำที่ทำไว้ไปถึงระดับตำบล อำเภอ และมีคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ทำหน้าที่บริหารจัดการโดยมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละลุ่มน้ำ เพียงแต่เราต้องการบริหารจัดการน้ำต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“จากการประเมินสถานการณ์ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ผมว่าเอาอยู่ ไม่กระทบรุนแรงเหมือนต่างประเทศ ซึ่งเราจะประกาศว่าการทำนาปรังเราอนุญาตให้ทำอยู่”

น้ำในพื้นที่อีอีซี

สำหรับน้ำในภาคอุตสาหกรรม ท่านนายกฯเศรษฐาได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และผมได้ประชุมเรื่องอีอีซี เมื่อ 17 ต.ค. 66 โดยมีท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานหารือถึงนโยบายที่สำคัญที่จะทำช่วง 99 วัน

“กลุ่มนักลงทุนต้องการใช้ปีละ 5 แสนล้าน ลบ.ม. (คิว) เราจะสามารถหาให้เขาได้หรือไม่ ซึ่งในพื้นที่อีอีซีมี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมชลประทาน บริษัท East Water และวงษ์สยามฯ ที่มีการกระจายน้ำผ่านพื้นที่ อุตสาหกรรมผ่านระบบท่อ ผมจำเป็นต้องเป็นกรรมการนั่งหัวโต๊ะเรียกทั้งสองบริษัทมาคุยกัน บอกให้กรมชลประทานเตรียมน้ำให้อุตสาหกรรม 3.5 แสนล้านคิว แต่ภาคอุตสาหกรรมต้องการเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านคิว ซึ่งอีสท์วอเตอร์กับวงษ์สยามฯก็จบ เราขอให้ประกาศให้ดัง ๆ ว่า น้ำไม่มีปัญหาสำหรับอีอีซี”