ราคาน้ำมันเบนซินลดลงแล้ว เช็กสถานะกองทุนน้ำมันติดลบเท่าไร

กองทุนน้ำมัน

สถานะกองทุนน้ำมันฯยังไหวอยู่ ปีนี้ติดลบ 75,625 ล้านบาท ลดลงจากไป 55,357 ล้านบาท

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 รายงานข่าวระบุว่า การลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินในวันแรก ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ให้ปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร เหลือ 35.48 บาท และลดราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ลง 1 บาทต่อลิตร เหลือ 37.25 บาท เป็นเวลา 3 เดือน นับจาก 7 พฤศจิกายน-31 มกราคม 2567 โดยใช้ลดภาษีสรรพสามิต และนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุ้มราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ติดลบ 75,625 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ติดลบ 130,982 ล้านบาท หรือติดลบน้อยกว่า 55,357 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นสถานะในส่วนของบัญชี LPG ติดลบ 45,440 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนติดลบ 43,109 ล้านบาท ส่วนบัญชีน้ำมันติดลบ 30,185 ล้านบาทจากปีก่อน บัญชีน้ำมันติดลบ 87,873 ล้านบาทแล้ว

สาเหตุที่สถานะกองทุนน้ำมันฯติดลบทะลุ 1.3 แสนล้านบาทในปีก่อน มาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 135.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 74.26%

ซึ่งปีก่อนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการ อาทิ การทยอยปรับราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) แบบขั้นบันได จากเดิมตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 408 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม

อีกทั้งยังมีการบริหารราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม จากเดิมตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร จากการดำเนินมาตรการดังกล่าวข้างต้น ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีสถานะติดลบมากกว่า 130,000 ล้านบาท

ทำให้กองทุนน้ำมันฯขาดสภาพคล่อง และมีหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงค้างชำระแก่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงินจำนวนมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินและกรอบวงเงินกู้ตามวรรคสามในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

ส่วนในปีนี้ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า หากราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับขึ้นไปเฉลี่ย 130 เหรียญ/บาร์เรล สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคาดการณ์ว่า ในปีนี้กองทุนน้ำมันฯ มีโอกาสจะติดลบถึง 90,000-100,000 ล้านบาท แต่ก็ยัง “ต่ำกว่า” ภาพรวมกองทุนน้ำมันฯในปี 2565 ที่เคยติดลบถึง -130,000 ล้านบาท เนื่องจากในขณะนั้นราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นไปสูงถึง 176 เหรียญ/บาร์เรล

โดย สกนช.ได้ทำสัญญาเงินกู้ 50,333 ล้านบาท ลอตที่สอง จากที่กู้ไปก่อนหน้านี้ 55,000 ล้านบาท รวม 1 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ แต่ทั้งนี้ การกู้ยังไม่เต็มวงเงินพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 วงเงิน 150,000 ล้านบาท หรือเหลืออีกประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่สิ้นสุดระยะเวลาบังคับใช้ไปเสียก่อน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดย สกนช.มองว่าหากระดับราคาน้ำมันไม่เกินจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ก็ไม่จำเป็นจะต้องขยายวงเงินกู้เพิ่ม และคาดว่าเม็ดเงินที่เหลือในมือจะสามารถบริหารจัดการได้ไปถึงต้นปี 2567