กยท.เข้มลุยตรวจสต๊อกยาง ลุ้นสิ้นปีส่งออก 4.26 ล้านตัน ลดลง 4%

THAILAND-ENVIRONMENT-RUBBER
In this photo taken on January 17, 2023 factory workers sort and pack natural rubber sheets at the Klongpan rubber cooperative in Thailand's southern Trang province. Thailand is the world's largest producer of natural rubber -- supplying almost 40 percent of global stocks in 2021 -- but plateauing Chinese prices and the European Union's incoming new rules on sustainable rubber are creating financial hardships for rubber farmers in an already tough business. (ภาพโดย Jack TAYLOR / AFP)

กยท.รับมอบนโยบายจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเดินหน้าเชิงรุกตรวจสอบสต๊อกยางพารา ป้องกันยางเถื่อน ขณะที่ทิศทางการส่งออกยางพาราไทย ไตรมาส 4/2566 ไปได้ดี หลัง ศก.จีนดีขึ้น คาดยอดส่งออกทั้งปี 4.267 ล้านตัน ลดลง 4%

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยในงาน “Talk About Rubber” ถึงการจัดการข้อมูลยางพารา ปรับสมดุล สร้างเสถียรภาพยางในประเทศ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ว่า จากนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพาราของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นแนวทางการบริหารจัดการยางให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่งแนวทางการติดตามดูแลในไตรมาส 4 ของปี 2566 นี้ กยท.ประสานกรมวิชาการเกษตร ให้เสนอตั้งพนักงานของ กยท. เป็นเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบสต๊อกยางพารา

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของ กยท. มีความพร้อมและมีทุกจังหวัด ที่จะเข้าร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ในการตรวจสอบสต๊อกยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังแต่งตั้งก็จะเร่งปูพรมลงตรวจพร้อมกันทุกจังหวัด โดยจะเข้าตรวจสอบเอกสารและบัญชียาง เปรียบเทียบกับยางจริงในสต๊อก และให้ กยท.ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการตรวจให้เสร็จสิ้น พร้อมรายงานผลภายใน 30 วัน

“กยท.ทุกจังหวัดจะตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน พื้นที่สวนยาง และปริมาณผลผลิตยาง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลยางที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (big data) นำปริมาณยางที่มีอยู่จริงมาเปรียบเทียบเพื่อทราบข้อมูลปริมาณยางจริง เพื่อที่จะบริหารจัดการยาง กำหนดนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ด้านยาง”

โดยการดำเนินการก็อยู่ภายใน 3 แนวทางสำคัญที่ กยท.ดำเนินการอยู่ คือ 1.การปรับสมดุลปริมาณยางในประเทศ 2.เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย (ยางพารา) 3.ดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนกับ กยท. แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา

Advertisment

นอกจากนี้ กยท.ยังมีโครงการชะลอยาง การจัดทำ zoning พื้นที่กรีดยาง และข้อมูลยางพาราที่จัดเก็บในระบบ รองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท

นายณกรณ์กล่าวอีกว่า ส่วนการเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ได้มีการตั้งทีมสายลับยาง เพื่อทำงานร่วมกับเครือข่าย กยท.ในพื้นที่ ในการเข้าไปสอดส่องและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมาย

อีกทั้งตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตร โดย กยท.ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่เพื่อสกัดและตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้าที่ผ่านเส้นทาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และตรวจสอบการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ในพื้นที่รับผิดชอบของด่านตรวจพืช สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ กยท.เองจะเชิญผู้ประกอบการยางพาราประชุมหารือ แนวทางร่วมลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เตรียมหารือนัดแรกกับภาคเอกชนโดยเร็วที่สุด

ทิศทางยาง ไตรมาส 4

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไทย ไตรมาส 4/2566 ว่า สถานการณ์ผลผลิตยางพาราโลก ANRPC คาดว่าอุปทานยางธรรมชาติทั่วโลกปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.5%

Advertisment

ส่วนสถานการณ์การใช้ยางพาราโลก คาดว่าความต้องการใช้ยางโลกปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 0.17% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า และมากกว่าผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก 0.687 ล้านตัน โดยคิดเป็น 4.4% เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดการส่งออกยางพาราได้ที่ 43%

ส่งออกยางไทย

การส่งออกยางพาราไทย คาดว่าในไตรมาส 4 ปริมาณส่งออกยางธรรมชาติจะอยู่ที่ 1,125,945 ตัน เพิ่มขึ้น 0.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน มีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น และอาจส่งผลให้มีการใช้ยางเพิ่มขึ้นตาม คาดว่าปี 2566 ปริมาณส่งออกทั้งหมดจะอยู่ที่ 4.267 ล้านตัน ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี เพื่อการผลักดันตลาดยางพาราไทย การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นช่องทางสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และยางพารา เช่น TAFTA (ไทย-ออสเตรเลีย) สัดส่วนการใช้สิทธิ 60.68%

นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งผลักดันมูลค่าสินค้าเกษตร การจัดการข้อมูลยางพารา และเช็กสต๊อกยางทั้งหมดของประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการให้เกิดสมดุลยางในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งก็เป็นส่วนช่วยสำคัญ

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตามที่กระทบต่อการผลิต การตลาดยางพารา ยังเป็นเรื่องของสภาพอากาศ และปรากฏการณ์เอลนีโญ เพราะเมื่อหมดฤดูฝนจะเผชิญเรื่องภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอล-ฮามาส คาดว่าจะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า อัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งสูงสุดในรอบ 22 ปี และอาจปรับขึ้นอีกครั้งในปีนี้ คาดว่าสิ้นปี 2566 อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5.50-5.75%

โดยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นเหล่านี้มีผลกระทบต่อการผลิตยางพาราไทยในไตรมาส 4 ที่ต้องติดตาม จึงคาดว่าทิศทางราคายาง ไตรมาส 4/2566 มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น