เทศกาลปีใหม่ 2567 คึกคักเงินสะพัดกว่า 105,924 ลบ. สูงสุดในรอบ 4 ปี

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าฯ เผยผลสำรวจประชาชนช่วงปีใหม่ 2567 คาดคึกคักเงินสะพัด 105,924 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% สูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่ประชาชน วอนรัฐ ลดค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ย เคลียร์หนี้เก่า เป็นของขวัญปีใหม่

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 คาดว่าเงินสะพัดอยู่ที่ 105,924 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% สูงสุดในรอบ 4 ปี โดยการท่องเที่ยวปีใหม่ 2567 นี้จะคึกคัก แม้ว่าประชาชนจะระวังการจับจ่ายซื้อสินค้า เนื่องยังมีความกังวลเรื่องของเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่บรรยากาศปีนี้ดีขึ้น

“แม้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นโดดเด่น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% แต่มองคนละแบบกับนักวิชาการที่คาดการณ์ไว้เฉลี่ย 3.1-3.5% ขณะที่รัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการดิจิทัลวอลเลต แต่ในความรู้สึกของประชาชนยังไม่เชื่อแบบนั้น ทั้งนี้ การส่งออกเริ่มกลับมาดี การท่องเที่ยวดีขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น”

ปัญหาหนี้นอกระบบ

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ส่วนมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบประชาชนส่วนใหญ่ 62.5% แก้ปัญหาได้ปานกลางและ 30.6% แก้ปัญหาได้น้อย เนื่องจากจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนมีสัดส่วนที่น้อย เพราะสถิติปี 2560 มีการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีคนเป็นหนี้นอกระบบได้ลงทะเบียนไว้เฉลี่ย 1 ล้านคน วงเงินเกือบแสนล้านบาท ขณะที่สภาพัฒน์ทำข้อมูลตัวเลขที่เท่าระบบปี 2564 อยู่ที่ 85,000 ล้านบาท ปัจจุบันประชาชนลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบอยู่ที่หลักแสน แต่มูลค่าหนี้อยู่ที่หลักพันล้าน ดังนั้นต้องดูว่าปัญหาหมด หรือคนยังไม่ลงทะเบียน

โพลสำรวจปีใหม่

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 สำรวจระหว่างวันที่ 10-16 ธันวาคม 2566 จำนวน 1,258 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่า การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566-1 มกราคม 2567 คาดว่าอยู่ที่ 105,924 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเงินสะพัดที่ 103,039 ล้านบาท

วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายสำหรับตัวเอง และ 71.3% จะใช้เงินสังสรรค์ จัดงานเลี้ยง 55.8% ใช้เงินเพื่อทำบุญเพื่อศาสนา และ 45.3% ใช้ไปกับการท่องเที่ยวในประเทศ

ส่วนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของประชาชน ส่วนใหญ่แล้วมีแผนที่จะไปเที่ยว และสถานที่เที่ยว ก็จะเป็นทะเล ภูเขา ซึ่งก็จะไปกับครอบครัว ขณะที่การใช้จ่ายในการท่องเที่ยว คาดว่าในประเทศจะอยู่ที่ 6,023 บาทต่อคน และต่างประเทศ 35,573 บาทต่อคน

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาล ส่วนใหญ่ 45.6% อยากลดค่าของชีพสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ รองลงมา 24.6% อยากให้กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว 16.7% อยากให้มีการปฏิรูปภาครัฐ ปราบปรามการทุจริต รัฐบาลโปร่งใสตรวจสอบได้ 11.6% อยากให้ดูแลค่าจ้าง/เงินเดือนให้มีความเหมาะสมกับความสามารถและค่าใช้จ่าย และ 1.5% อยากให้ลดภาษีส่วนบุคคล

ขณะที่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการในปี 2567 ส่วนใหญ่ 12.7% อยากให้รัฐดูแลการมีงานทำ/สร้างงาน สร้างรายได้ สัดส่วน 12.6% อยากให้มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน/เงินกู้ สัดส่วน 11.1% อยากให้แก้ไขปัญหายาเสพติด สัดส่วน 10.4% อยากให้ดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม สัดส่วน 9% แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ 8.7% แก้ปัญหาความยากจน

สำหรับการสำรวจการขยายของภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566 ส่วนใหญ่ 50% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.1-2.5% รองลงมา 28.8% คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 1.51-2% ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังไม่สดใสและยังฟื้นตัวได้ไม่ชัดเจน ขณะที่ปี 2567 ส่วนใหญ่ 56.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.5-3% และ 31.6% คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 2.5%

ดอกเบี้ยไม่น่าขึ้น

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจจะเห็นว่าประชาชนกังวลเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ทำธุรกิจเป็นห่วงเรื่องของการเป็นหนี้และผลกระทบเรื่องอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มุมมองดอกเบี้ยปี 2567 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมถัดไป เมื่อแนวโน้มเป็นในลักษณะนี้ในส่วนของการดำเนินนโยบายของประเทศไทยที่เงินเฟ้อไม่ได้มีปัญหา

เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แต่คนจะห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมองว่าหน่วยงานของที่เกี่ยวข้องก็น่าจะส่งสัญญาณเรื่องดอกเบี้ย เพราะหากมีการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งค่าครองชีพและการผ่อนชำระต่าง ๆ ซึ่งก็จำเป็นจะต้องเข้ามาดูเรื่องนี้และหากจุดที่เหมาะสมต่อไป