เร่งเอฟทีเอไทย-อียู ฟื้นส่งออก “อาหารแช่เยือกแข็ง”

อนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์
อนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์
สัมภาษณ์พิเศษ

สินค้าอาหารแช่แข็งของประเทศไทย เป็นกลุ่มสินค้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยจุดแข็งที่มีความหลากหลายของอาหาร คุณภาพและมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ แม้ปี 2566 การส่งออกในกลุ่มอาหารแช่แข็งในภาพรวมจะมีมูลค่า 94,000 ล้านบาท ลดลง 12% แต่ทิศทางการส่งออกในปี 2567 คาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์” นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย ถึงทิศทางอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งในปี 2567

ส่งออกอาหารแช่แข็งปี’66

นายอนุชากล่าวว่า ภาวะการส่งออกสินค้าในช่วงต้นปี 2566 ที่ขยายตัว ผู้นำเข้ามีการสต๊อกสินค้าอย่างต่อเนื่อง คำสั่งซื้อยังอยู่ภาวะปกติ ราคาสินค้ายังคงทรงตัวสามารถแข่งขันได้ แต่ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งประเทศคู่ค้าและทั้งโลก ทำให้ผู้นำเข้าเร่งระบายสินค้า ลดคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา เพื่อลดความเสี่ยงในการขายสินค้า

ทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2566 ลดลง 12% มูลค่า 94,000 ล้านบาท คาดว่าต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทุกอุตสาหกรรมต่างก็ได้รับผลกระทบกันหมด

ส่งออกฟื้น ปี 2567

ในปี 2567 มีความคาดหวังการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกเทียบเท่าในปี 2565 โดยมีเป้าหมายการส่งออกขยายตัว 15% ปริมาณ 5.3 แสนตัน

แม้ว่าการสั่งซื้อสินค้าในช่วงไตรมาส 1 จะยังทรงตัว จากผลกระทบจากช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ผู้นำเข้าเร่งระบายสต๊อกสินค้า แต่เชื่อว่าการส่งออกจะเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาได้ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าจะเริ่มฟื้นตัว และสต๊อกสินค้าของคู่ค้าหลักจะเริ่มเบาบางลง ส่วนเรื่องของราคาก็น่าจะอยู่ในระดับที่ดีและแข่งขันได้

ดาวรุ่ง-ดาวร่วง

สินค้าอาหารแช่เยือกแข็งจะไม่รวมการส่งออกกลุ่มทูน่า โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออก เช่น กุ้ง ตลาดหลักนั้นอยู่ที่สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน ที่มีการนำเข้าสูง แต่จากสภาพเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาหดตัวทำให้การส่งออกสินค้าไทยลดลงแต่คาดว่าในปี 2567 นี้จะกลับมาดีขึ้น

แต่ปัญหาการผลิตกุ้งของไทยต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2-2.5 แสนตัน ถือว่าไทยเป็นผู้ผลิตกุ้งอันดับ 5 ของโลกแต่หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วในช่วง 2554 ไทยเป็นผู้ผลิตกุ้งเบอร์ 1 ของโลก ผลผลิตที่ออกมาต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 6 แสนตัน แต่เมื่อปี 2556 เป็นต้นมาเรื่องปัญหาของโรคระบาดอีเอ็มเอสในกุ้ง ทำให้ผลผลิตกุ้งต่อปีเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 2 แสนตัน จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นในเรื่องนี้จึงคาดหวังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาช่วยเร่งพัฒนาสายพันธุ์กุ้งให้มากขึ้น

“การพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง อยู่ระหว่างการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีความคาดหวังว่า ต้องทนต่อโรคระบาดและมีอัตราการรอดสูงซึ่งจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงการเลี้ยงระบบน้ำ โดยต้องนำการวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วย รวมไปถึงต้นทุนการเลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้ามาดูแล ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นจะต้องมีการลงทุนพัฒนาซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเข้าช่วยเหลือ”

ขณะที่วัตถุดิบอื่น เช่น ปลาแช่แข็ง ปูอัด กลุ่มนี้ส่งออกลดลง 10% ในปีที่ผ่านมาและคาดว่าสินค้าจะกลับมาดีขึ้นได้ในปีนี้ รวมไปถึงปลาแล่ ส่วนปลาหมึกปีที่ผ่านมาหดตัว 10-15% โดยส่วนใหญ่และน่าจะกลับมาดีขึ้นในปีนี้ ปลาหมึกปีที่ผ่านมาผลผลิตลดลง 15% เพราะการประมงในเมืองไทยยังคงทรงตัวแบบคงที่เนื่องจากยังมีมาตรการของ IUU เรือประมงชาวบ้านที่ยังมีจำนวนทรงตัว มีผลต่อการจับสัตว์น้ำที่ยังได้ปริมาณการจับเท่าเดิม

ส่วนเนื้อปูแช่แข็งยังสามารถนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เนื้อปูอัด ลูกชิ้นยังมีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต และมีการนำเข้ามาจากเวียดนาม อินเดีย สหรัฐอเมริกา มองว่ากลุ่มสินค้านี้จะมีการเติบโต และยังไปได้ดี ส่วนเนื้อปูม้าการส่งออกยังทรงตัว ส่งออกประมาณเฉลี่ยปีละ 3,000 ตันโดยมองว่ายังคงเติบโตไม่มากนักถ้าเทียบในกลุ่มอาหารแช่แข็ง

แก้ปัญหาประมง-แรงงาน

สำหรับการแก้ไขปัญหาประมง IUU สมาคมประมงได้ยื่นขอแก้ไข พ.ร.บ.ประมงซึ่งอยู่ในช่วงของการประเมิน ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีแก้ไขในเรื่องไหนบ้าง ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการและพิจารณาอยู่ แต่อย่างไรก็ตามทางภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) ก็พยายามเรียกร้องไม่อยากให้มีการแก้ไข แต่ทั้งนี้ควรจะมีการพิจารณาให้รอบคอบเพื่อจะไม่ให้กระทบในภาคของการส่งออก

ส่วนปัญหาแรงงานมองว่าไม่มีปัญหาแล้ว ทั้งแรงงานเด็ก แรงงานเถื่อน เนื่องจากในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (International Labour Organization : ILO) ทำกฎระเบียบในการดูแลแรงงานต่างด้าว เพราะอุตสาหกรรมประมงถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก โดยแรงงานส่วนใหญ่มาจากประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา

ความร่วมมือกันครั้งนี้ทำให้องค์กรนานาชาติมีความภูมิใจและเชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาแรงงานของไทยเป็นอย่างดี และยังมีแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ขึ้น ทำให้ประเทศคู่ค้ายอมรับ และพอใจในการแก้ปัญหาแรงงานของไทย โดยเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออก

เร่งทำ FTA ไทย-อียู

สำหรับแนวทางในการผลักดันการส่งออก ทางสมาคมยังต้องการเร่งให้รัฐบาลเดินหน้า ความตกลงจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-EU ซึ่งหากไทยสามารถเจรจา FTA ได้สำเร็จ คาดว่าสินค้าประมงจะได้รับยกเว้นภาษีสินค้าประมงทันที เพราะต้องยอมรับว่า การที่ไทยไม่มี FTA กับอียู ทำให้การส่งออกสินค้าประมงของไทยไปประเทศดังกล่าว ต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 20-30% ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของสินค้าเพราะอัตราภาษีเสียไม่เท่ากัน

ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าประมงไทยไปประเทศดังกล่าวมีปริมาณที่ลดลง และหากรัฐบาลสามารถเร่งดำเนินการเจรจาได้จะทำให้สินค้าประมงของไทยส่งออกไปได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารแช่แข็งของไทยมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นได้

สำหรับคู่แข่งไม่มีความน่ากังวลมากนัก ทั้งเรื่องปริมาณและราคาส่งออก เพราะช่วงที่ผ่านมาประเทศคู่แข่งของไทยหลัก ๆ อยู่ในอาเซียน เช่น เวียดนาม เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอการส่งออกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สมาคมยังมั่นใจว่าในปี 2567 นี้ไทยยังมีโอกาสการส่งออกที่มีการเติบโตทั้งปริมาณและมูลค่า เพราะมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้น คำสั่งซื้อกลับเข้ามาและมีความคาดหวังจากภาครัฐในการเร่งเจรจาเอฟทีเอและส่งเสริมการค้าในปีนี้