รัฐบาลใหม่เร่งเครื่อง FTA เปิดผลศึกษาเอฟทีเอไทย-PA หนุนจีดีพี

เศรษฐกิจ ส่งออก
ภาพจาก AFP

นโยบายการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล “เศรษฐา 1” เพื่อเร่งสร้างโอกาสในการค้าและการลงทุนให้กับประเทศ หนึ่งในนั้นคือ FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance : PA) ซึ่งได้เริ่มตั้งต้นเมื่อเดือนเมษายน 2554

PA มีสมาชิก 4 ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา คือ ชิลี เปรู โคลอมเบีย และเม็กซิโก ปี 2565 ทำการค้ากับไทย 6,239.99 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 4,359.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.52% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และนำเข้า 1,880.25 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.62% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2,479.49 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดันจีดีพีพุ่ง 200 ล้านเหรียญ

ผศ.ดร.วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในคณะผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ระหว่างไทย-PA ให้กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กลุ่ม PA มีประชากร 225 ล้านคน เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ลำดับที่ 8 ของโลก และมีมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการเป็นอันดับที่ 8 ของโลก การขยายตัวเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 36% ของภูมิภาคละตินอเมริกา การค้าระหว่างประเทศ คิดเป็น 50% และการลงทุนทางตรง คิดเป็น 30% ของภูมิภาคละตินอเมริกา

“การทำ FTA ไทย-PA จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.04% ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการค้าไทย- PA เพิ่มขึ้น 16.75% ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเพิ่มขึ้น 4.70% มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 44.67% มูลค่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐ”

PA แหล่งวัตถุดิบ-ตลาดส่งออก

ทั้งนี้ สินค้าหลักที่กลุ่ม PA ส่งออกเช่น เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานบกนอกจากรถที่เดินบนรถไฟ รถราง บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล สินแร่ เป็นต้น โดย PA มีการส่งออกมาในอาเซียนทั้งไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจาก PA เช่น ทองแดงที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ปลาแช่แข็ง ชิ้นส่วนยานยนต์ ทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป หอยและปลาหมึก โทรศัพท์ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า เป็นต้น

“ในการทำเอฟทีเอ กลุ่ม PA จะเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของไทย โดยเฉพาะสินแร่ และสัตว์น้ำ แม้ปัจจุบันไทยจะมีเอฟทีเอ กับเปรู และชิลีแล้วก็ตาม หากสามารถขยายขอบเขตข้อตกลงได้ จะเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ 3 ได้มากขึ้น”

อีกด้านหนึ่งกลุ่ม PA นำเข้า เช่น พลาสติก เชื้อเพลิง อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น โดย PA นำเข้าสินค้าอาเซียนจากมาเลเซีย เวียดนาม ไทย เป็นต้น

ขณะที่สินค้าที่ไทยส่งออกไปยัง PA เช่น ยานยนต์ส่วนบุคคล ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรศัพท์ หม้อแปลงไฟฟ้า

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด การส่งออกของไทยมีการลดลง แต่ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และโดยเฉพาะเม็กซิโก ตลาดหลักคิดเป็น 3 ใน 4 ของการส่งออกไทยไปยัง PA”

ผลวิจัย พบว่า สินค้าที่ได้รับผลดีจากเอฟทีเอ เช่น ธัญพืช พลาสติก ยาง ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์ คือ ประมงแปรรูป พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์

ผลศึกษาเปิด FTA

ดูแลสินค้า “อ่อนไหว”

อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมดูแลสินค้าอ่อนไหวของไทย อย่างปลา สัตว์น้ำจำพวกรัสตาเซีย โมลลุสก์ และสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง สินแร่ เคมีภัณฑ์ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไทยที่มีความอ่อนไหว คือ ประมงต้นน้ำ เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีแนวทางเตรียมพร้อม หรือให้ระยะเวลาปรับตัว

นอกจากนี้ ยังต้องการศึกษาเรื่องของกฎระเบียบการลงทุนและบริการ นโยบาย แรงงาน อย่างยิ่ง เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละประเทศ ใน PA มีกฎระเบียบการลงทุน การบริการ หรือกฎระเบียบด้านแรงงาน ไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องกฎระเบียบด้านแรงงานแต่ละประเทศที่ต่างกัน อาทิ เม็กซิโก หากเข้าไปลงทุนจะต้องมีแรงงานชาวเม็กซิกันไม่น้อยกว่า 90% ของแรงงานทั้งหมด หรือชิลีจะต้องมีแรงงานของชิลีไม่น้อยกว่า 85% ของแรงงานทั้งหมด เป็นต้น

“การเจรจาข้อตกลง เพื่อประโยชน์ ในการสร้างโอกาสส่งออกสินค้า และบริการของไทย รวมไปถึงให้ผู้บริโภคคนไทยได้ใช้สินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ ผู้ผลิตมีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาเหมาะสม ส่งเสริมการลงทุนและสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างกัน ดังนั้น จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการปรับตัว และวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม สร้างความรู้ ความเข้าใจทุกภาคส่วนก่อนที่จะมีการเดินหน้าการเจรจา”

ตั้งธงสร้างโอกาสส่งออกไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลศึกษา FTA ระหว่างไทย – PA จะสร้างโอกาสทางการค้า สินค้า การค้าบริการ การลงทุนของไทย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโต

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ต้องเตรียมความพร้อมปรับตัว ได้แก่ ปลา สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สินแร่ ตะกรันและเถ้า เฟอร์นิเจอร์ โลหะต่าง ๆ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสาขาบริการที่มีศักยภาพ ได้แก่ การท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร การค้าส่งค้าปลีก และการก่อสร้าง ส่วนสาขาบริการที่ต้องปรับตัว อาทิ การขนส่ง สื่อ และธุรกิจบริการอื่น ๆ

ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับชิลี และเปรู แต่ยังไม่มี FTA กับเม็กซิโกและโคลอมเบีย ซึ่งกรอบการเจรจา FTA ครั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเจรจาเปิดตลาดการค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การค้าบริการและการลงทุน ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาและประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และตลาดดิจิทัลระดับภูมิภาค แรงงาน สิ่งแวดล้อมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อย

เอกชนหนุนทำเอฟทีเอกับ PA

นางเพ็ญศิริ ดิษยเดช ประธานหอการค้าเม็กซิกัน-ไทย กล่าวว่า ขณะนี้เวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทยถือเป็นประเทศที่กำลังมาแรง ในการส่งออกสินค้าเข้าตลาด PA หากไทยสามารถเปิดเจรจาได้ ก็จะช่วยลดกำแพงภาษี และช่วยขยายตลาด โดยเฉพาะเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำเม็กซิโก จัดกิจกรรมผลักดันการส่งออกทุกปี เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทย

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการทำ FTA ไทย-PA แต่ต้องพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ได้มากขึ้น จากเดิมที่ไทยจะมี FTA กับประเทศเปรู และชิลีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการค้ามาจากระยะทางขนส่งไกล ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งสูง แม้จะมี FTA ก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าระวางเรือลดลง เพราะเราไม่มีกองเรือ และขึ้นอยู่กับการแข่งขันของสายเรือ ทางแก้ไขต้องรวมกลุ่มส่งสินค้าจะช่วยลดค่าระวางเรือลงได้