ไทย-ศรีลังกา ถก FTA รอบ 6 เล็งให้รัฐมนตรีการค้าลงนามความตกลง ต้นปี’67

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

“ไทย-ศรีลังกา” ประชุมเจรจาจัดทำ FTA รอบ 6 คืบหน้าเกินครึ่งทาง เดินหน้าจัดการประชุมปีนี้อีก 3 ครั้ง ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาในปี’66

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ ว่า การประชุมครั้งนี้ มีความคืบหน้าด้วยดี ซึ่งประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า ซึ่งกำกับดูแลความคืบหน้าการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิค 7 คณะ

ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) การค้าบริการ 4) การลงทุน 5) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 6) การเยียวยาทางการค้า และ 7) กฎหมาย โดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อปูทางให้รัฐมนตรีการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายลงนามความตกลง ช่วงต้นปี 2567

การเจรจาในภาพรวมถือว่ามีความคืบหน้าเกินครึ่งทาง และทั้ง 2 ฝ่ายมีแผนจะจัดการประชุมเจรจาในปีนี้ อีก 3 ครั้ง ช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม เพื่อสรุปผลการเจรจาทุกเรื่องให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งนำเสนอผลการเจรจาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงต่อไป ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นประเมินว่า แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อาทิ แร่รัตนชาติ และอาหารทะเล

สำหรับการจัดทำ FTA ไทย-ศรีลังกา จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.02% มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งขยายการลงทุนและขยายมูลค่าการส่งออกของไทยไปศรีลังกา สินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์

ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถขยายการลงทุนในศรีลังกา อาทิ อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอัญมณีและเครื่องประดับ

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 178.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 119.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 59.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ

อาทิ ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์