พัชรวาท ชงร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสภา แก้ฝุ่น PM 2.5

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

“พัชรวาท” ชงร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสภา หวังแก้ต้นตอก่อ PM 2.5 ที่แท้จริง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย-เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

วันที่ 11 มกราคม 2567 รายงานข่าวจากรัฐสภา ระบุว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในนามคณะรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ พร้อมชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 หรือ PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี

จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ ทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ กำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงาน และกำกับดูแล เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบการเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยต่อสุขภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ”

โดย พ...บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.. …. ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ

Advertisment

ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน