โอกาส-ความท้าทาย “ปตท.” ซีอีโอป้ายแดง คงกระพัน อินทรแจ้ง

คงกระพัน อินทรแจ้ง
คงกระพัน อินทรแจ้ง

ปี 2567 นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ค่ายพลังงานยักษ์ใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดศักราช ด้วยการเปลี่ยนแม่ทัพ และจ่อขยับนายกอง “รับศึก” เปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด

โดยบทสรุปที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบให้ “นายคงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) GGC เป็นผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 11 ต่อจาก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะครบวาระ 4 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยซีอีโอใหม่มีกำหนดจะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567

ย้ำคุณสมบัติครบถ้วน

ตามบทสรุปการพิจารณาของ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ตามกฎหมายแล้ว นายคงกระพัน อินทรแจ้ง เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นั่นจึงส่งผลให้ “นายคงกระพัน” เฉือนเอาชนะคู่แข่งอีก 4 ราย ทั้ง นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน),

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แบบที่ไม่พลิกโผ

ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาจะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ดำเนินการเจรจาค่าตอบแทนและข้อสัญญาจ้างกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน หลังจากนั้นจะได้นำผลการเจรจาดังกล่าวเสนอต่อ คณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามสัญญาจ้าง และจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

ความท้าทายซีอีโอใหม่

สำหรับ “ซีอีโอป้ายแดง” ที่จะก้าวรับตำแหน่งท่ามกลาง “ความท้าทาย” จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และวิกฤตทะเลแดง ส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกที่ส่งแรงสั่นสะเทือนมาสู่ประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานอย่างไทยด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการดูแลและบริหารจัดการราคาพลังงาน เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่า ปตท.จะต้องเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐในการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน สร้างแรงกดดันต่อรายได้และผลประกอบการของธุรกิจนี้

ขณะเดียวกันการวางนโยบายด้านพลังงานภาพใหญ่ ภายใต้การนำของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่ชูแนวคิด “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ก็ส่งผลต่อธุรกิจ ปตท. ด้วยเช่นกัน

โดยล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ที่กำหนดแนวทางปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เป็นราคา Pool GAS ซึ่งเป็นราคาที่เฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย ก๊าซที่นำเข้าจากเมียนมา และแอลเอ็นจีนำเข้ามารวมกัน จากเดิมที่ใช้ราคาในอ่าวไทย โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซที่จะปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งในที่ประชุมบอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ได้ประมาณการผลกระทบเบื้องต้น “ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567” จะทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซของ ปตท. ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาท

อีกทั้ง ปตท.ยังมีภาระต้องคืนการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซ “Shortfall” อีก 4,300 ล้านบาท เฉพาะในช่วงตุลาคม 2563-ธันวาคม 2565

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคั่งค้างเรื่องการพิจารณาราคาน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ของประเทศไทย ที่กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยื่นขอไปที่กระทรวงพลังงานว่าขอปรับขึ้นราคาน้ำมันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานราคาในตลาดโลก และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่้ได้มีการลงทุนไปแล้ว

ซึ่งประเด็นนี้จะพบว่า มีโรงกลั่นที่อยู่ในกลุ่ม ปตท. 3 โรง จากทั้งหมดของประเทศ 6 โรง คือ ไทยออยล์ ไออาร์พีซี และจีซี หากราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงก็เท่ากับเป็นการผลักให้ “โรงกลั่น” แบกรับภาระนี้ไว้ลำพัง ไม่นับรวมการใช้มาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานอื่นเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนที่ ปตท.จะต้องเข้าไปช่วย

โอกาสทางธุรกิจ ปตท.

และต้องมาลุ้นว่า “คงกระพัน” จะรับไม้สานต่อวิสัยทัศน์และภารกิจที่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” วางไว้ว่าจะนำพา ปตท. มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Powering Life with Future Energy and Beyond) ปรับเพิ่มพอร์ตการลงทุนในธุรกิจพลังงานอนาคต (Future Energy) และธุรกิจใหม่ (New Business) เพื่อสร้างกำไรจากธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่มากกว่า 30% ในปี 2573 อย่างไร เพื่อสร้าง “โอกาสทางธุรกิจ” ใหม่ให้ ปตท.

นับได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ซีอีโอใหม่จะต้องพิสูจน์ฝีมืออีกครั้ง หลังจากที่เคยทำให้ GC ประสบความสำเร็จ จนได้กลายเป็นบริษัทชั้นนำที่ติดลิสต์ 500 บริษัทในฟอร์จูนแล้ว แต่ครั้งนี้จะต้องรับบทหนักกว่าในการกุมบังเหียนบริษัทที่มีสินทรัพย์กว่า 3.5 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนงานตามแผนการลงทุนที่วางไว้ 5 ปี (2567-2571) วงเงิน 89,203 ล้านบาท

(ใน 5 สาขา ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของงบฯลงทุนทั้งหมด, ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท คิดเป็น 17% ของงบฯลงทุนทั้งหมด, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของงบฯลงทุนทั้งหมด, ธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของการลงทุนทั้งหมด และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท คิดเป็น 31% ของงบฯลงทุนทั้งหมด)

และยังอาจต้องขยายการลงทุนไปในโครงการใหม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคตระยะ 5 ปีข้างหน้า (Provisional Capital Expenditure) อีก 106,932 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ที่น่าจับตาไม่น้อยว่า การบริหารเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ จะทำได้อย่างที่ “อรรถพล” เคยพิสูจน์การสร้างกำไรสุทธิพุ่งจากปี 2563 มูลค่า 37,766 ล้านบาท ไปเป็น 108,363 ล้านบาทในปี 2564 และประคองไว้ที่ระดับ 91,175 ในปี 2565 หรือไม่

ปรับใหญ่

แน่นอนว่าหลังจากขยับขึ้นสู่ตำแหน่ง “แม่ทัพ ปตท.” แล้ว จะทำให้ “ตำแหน่ง “CEO GC” ว่างลง ซึ่งในส่วนของ GC เองก็นับเป็นบริษัทปิโตรเคมียักษ์ใหญ่ของไทย ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 732,905.68 ล้านบาท (ตัวเลขของไตรมาส 3 ปี 2566)

ไม่เพียงเท่านั้น ในกลุ่มบริษัท ปตท. จะยังมีตำแหน่งซีอีโอที่ว่างลงอีก 1 ที่นั่ง คือ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) ที่จะเกษียณในปีนี้เช่นกัน PTTEP ก็นับว่าเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่สำรวจและขุดเจาะหาแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 903,701.30 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีการแข่งขันฝุ่นตลบอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ปตท. ที่จะเกษียณอายุในปีนี้อีก 2 ตำแหน่ง คือ นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. และ น.ส.พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) บมจ.ปตท. จึงเท่ากับว่าในกลุ่ม ปตท. ปีนี้จะมี “CEO ใหม่” ถึง 3 คน จึงต้องมาลุ้นว่าในช่วงนี้ กระบวนการสรรหาและคัดเลือกผู้บริหารระดับแม่ทัพนายกองของ ปตท. จะมีทิศทางเป็นอย่างไร

3 ซีอีโอกอดเงินลงทุน 3 แสนล้าน

หากวิเคราะห์เฉพาะเม็ดเงินลงทุน 3 บริษัท ปตท. GC และ PTTEP สำหรับในปี 2567 แบ่งเป็น การลงทุนของ ปตท. ที่เตรียมไว้ลงทุน 26,283 ล้านบาท ใน 5 สาขา ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 9,107 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 6,363 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 999 ล้านบาท ธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 1,976 ล้านบาท การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อีก 7,838 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทในกลุ่มอีก 2 บริษัท คือ GC ปีนี้มีแผนขยายการลงทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มปริมาณการขายเติบโตเพิ่มขึ้น 10% โดยมีปัจจัยจากโรงงานอะโรเมติกส์จะกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลัง และจะไม่มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ งานนี้ไม่ว่า “ใคร” จะเข้ามารับไม้ต่อก็ต้องเตรียมแผนไว้ด้วย

ขณะที่ “PTTEP” ก็ประกาศแผนการลงทุนปี 2567 ไว้ รวมถึง 6,721 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 230,194 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสร้างสินทรัพย์ระยะยาว (CAPEX) มูลค่า 4,316 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 147,823 ล้านบาท และการลงทุนไปกับสินทรัพย์ในรูปแบบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (OPEX) อีก 2,406 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 82,371 ล้านบาท รวมแล้วเท่ากับ “3 บริษัท 3 ซีอีโอ” กุมเงินลงทุนมหาศาลเกือบ 300,000 ล้านบาท

เป้าหมายแผน 5 ปี 8.9 หมื่นล้าน

สำหรับแผนการลงทุน 89,203 ล้านบาท รองรับการลงทุนธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบฯการลงทุน 5 ปี ประมาณ 51% โดยมีโครงการหลัก

อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5

ทั้งยังจะมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus ธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell-To-Pack (CTP) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

ส่วนอีกก้อน 106,932 ล้านบาท อาทิ ขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการขยายการลงทุนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์

รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) รวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ