จับตาปีนี้ “กลุ่ม ปตท.” ได้ CEO ใหม่ถึง 3 คน ยังเหลือ PTTEP-GC

ปตท.

จับตา ‘กลุ่ม ปตท.’ ปีนี้ได้ CEO ใหม่ 3 คน หลังตั้ง ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ CEO ปตท. คนที่ 11 เหลือเวลาอีก 2 เดือน เร่งเฟ้นหา CEO ‘PTTEP-GC’ บวกอีก 2 ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ปตท.

วันที่ 26 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากบทสรุปผลที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบให้ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนต่อไป แทนนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ที่จะครบวาระ 4 ปี ในเดือน พฤษภาคม 2567

โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 11 จะเริ่มปฏิบัติงานบริหารการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ย้ำคุณสมบัติครบถ้วน

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ตามกฎหมายแล้ว นายคงกระพัน อินทรแจ้ง เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของ รัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีมตินำเสนอคณะกรรมการ ปตท. ให้พิจารณา

ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาฯ จะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ดำเนินการเจรจาคำตอบแทนและข้อสัญญาจ้างกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนฯ หลังจากนั้น จะได้นำผลการเจรจาดังกล่าวเสนอต่อ
คณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามสัญญาจ้าง และจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

ฟ้อง ดีเอสไอ

เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุผลที่บอร์ดจะต้องย้ำถึงความครบถ้วนของคุณสมบัติ CEO คนใหม่น่าจะมีเหตุผลมาจาก รายงานข่าวที่ระบุว่า นายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีต ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หนึ่งในกรรมการ ปตท. ลาประชุม โดยได้มีหนังสือถึงบอร์ด ปตท. เรื่อง ขอให้ความเห็น และถือเอาหนังสือฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม โดยอ้างถึงหนังสือของนายสยามราช ผ่องสกุล ที่ได้ยื่นต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบกรณี ผู้บริหาร โกลบอลกรีนฯ (GGC) ทุจริตสั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบ

ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้จะต้องลาไม่เข้าร่วมกันประชุมและไม่ร่วมการลงคะแนนเลือก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บมจ.ปตท. คนที่ 11 ในวันที่ 25 มกราคม 2567

ซึ่งการขอสงวนสิทธิ์ไม่เลือก CEO ปตท. เพื่อให้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษถึงความคืบหน้าในคดีดังกล่าว เพราะอาจจะเกี่ยวโยงกับผู้สมัคร 1 ใน 5 ราย แต่ท้ายที่สุดผลสรุปก็ออกมาตามโผที่คาดการณ์

จับตาตำแหน่งว่าง

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้อีก 2 เดือน จะเป็นช่วงเวลาของการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมารับตำแหน่งแทน ตำแหน่ง CEO GC ที่จะว่างลง หลังจากที่นายคงกระพันก้าวขึ้นมาเป็น CEO บริษัทแม่อย่าง ปตท.แล้ว ซึ่ง GC ก็นับเป็นบริษัทที่น่าจับตามองด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 732,905.68 ล้านบาท (ตัวเลขของไตรมาส 3 ปี 2566)

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีตำแหน่งซีอีโออีกหนึ่งตำแหน่งที่ จะเกษียณในปีนี้เช่นกัน คือ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) ในกลุ่ม ปตท. ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 903,701.30 ล้านบาท ซึ่งหากรวม 2 บริษัทนี้สินทรัพย์รวมกันก็เกินกว่า 1.6 ล้านล้านบาทแล้ว

นพดล ปิ่นสุภา
นพดล ปิ่นสุภา

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ปตท.ที่จะเกษียณอายุในปีนี้อีก 2 ตำแหน่ง คือ นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. และ น.ส.พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) บมจ.ปตท.

พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล
พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล

จึงเท่ากับว่าในกลุ่ม ปตท. ปีนี้จะมี ‘CEO ใหม่’ ถึง 3 คนที่จะเกิดขึ้น (ปตท., GC และ PTTEP) รวมมูลค่าสินทรัพย์แล้วมหาศาลและยังมีเม็ดเงินลงทุนที่จะเกิดจากทั้ง 3 บริษัทอีกจำนวนมาก นี่จึงเป็นอนาคตของ ปตท.ยุคใหม่ที่น่าจับตามอง