มองข้ามชอต ปตท. ชุดใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนแค่ ‘ซีอีโอ’

สมัครชิงซีอีโอ ปตท.
บุรณิน รัตนสมบัติ-ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่-คงกระพัน อินทรแจ้ง-พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์-วรวัฒน์ พิทยศิริ

จับตาผลประชุม “บอร์ด ปตท.” วันที่ 25 ม.ค. 2567 เคาะเลือก CEO คนที่ 11 แทน “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ที่จะครบวาระ 4 ปีในเดือน พ.ค. 2567 คาดสร้างแรงกระเพื่อมบริษัทในกลุ่ม ปตท.ตามมาอีกหลายตำแหน่ง

วันที่ 25 มกราคม 2567 ขับเคี่ยวกันมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนที่ 11 เพื่อมาทำหน้าที่แทนนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ที่จะครบวาระ 4 ปี ในเดือน พฤษภาคม 2567

ซึ่งในวันที่ 25 มกราคม 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีวาระพิจารณาผลการคัดเลือกชี้ชะตา 5 ผู้สมัคร

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสรรหาได้ปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 มีผู้สมัคร 5 คน และให้ผู้สมัครทั้งหมดมาสัมภาษณ์ เพื่อจะได้แสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการสรรหาที่จะต้องดำเนินการก่อนครบวาระ 6 เดือน

สำหรับผู้ยื่นสมัครทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย

1. นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)

2. นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

3. ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

4.นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

5. นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

ซึ่งผู้เข้ารับการสรรหาจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัคร, มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ รวมถึงมีวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจพลังงาน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง มีความรอบรู้และประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

“ในการประชุม บอร์ด ปตท. ครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำผลการประชุมบอร์ดรวมถึงรายชื่อ CEO คนใหม่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามขั้นตอนต่อไปได้ทันที เพื่อให้งานของ ปตท. ดำเนินการได้ทันทีภายหลัง CEO คนปัจจุบันจะครบวาระ”

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งมีการวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. ว่าจะมีตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่ง CEO ด้วย เพราะหาก 1 ใน 5 ผู้ลงสมัครได้รับการคัดเลือกเป็น CEO ปตท. ก็จะมีการโยกย้ายภายในเกิดขึ้น และประกอบกับจะมีผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท.บางส่วนที่เกษียณอายุในปีนี้ด้วย ซึ่งก็เรียกได้ว่าปีนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ของ ปตท.เลยทีเดียว

 รายชื่อผู้บริหารที่จะมีการเกษียณอายุในปีนี้อย่างน้อย 3 ตำแหน่ง ประกอบด้วย

1.นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท.

2.น.ส.พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) บมจ.ปตท.

3.นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)

หากสมมุติฐานว่ามีซีอีโอเบอร์ 1 ของบริษัทลูก รายหนึ่ง ได้ขยับขึ้นเป็น CEO ปตท. ก็จะมีการขยับผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อวางจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ของ ปตท.ให้สมบูรณ์นั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่าผลสรุป ซีอีโอ ปตท.ครั้งนี้ ไม่เพียง จะนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนงานในอนาคตจากสินทรัพย์ มูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น และแผนลงทุนตามงบ 5 ปี (ปี 2567-2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงิน 89,203 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ระยะ 5 ปีข้างหน้า อีก 106,932 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมเกือบ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น

แต่จะยังเป็นการปรับกระบวนทัพ วางอนาคตบริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายตำแหน่งตามมาอีกด้วย