นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ “เกษตร” ฝ่าความท้าทายครั้งใหญ่

นวัตกรรมเกษตร

ในงานสัมมนา Thailand 2024 : THE GREAT CHALLENGES เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ในหัวข้อ ลดรายจ่าย : มิติใหม่ ปราบผู้มีอิทธิพล แก้หนี้ แก้จน ปลดหนี้เกษตรกร ได้จริง ? ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์มติชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไฮไลต์สำคัญที่ 2 คีย์แมนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้คำมั่นคือการดูแล เกษตรกรที่มีอยู่ 31 ล้านคน

ซึ่งเป็นฐานรากเศรษฐกิจของประเทศ ไม่นับรวมแรงงานในภาคเกษตรอีก 20 ล้านคน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ความท้าทายภาคเกษตร

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่าภารกิจดูแลเกษตรกรนับเป็นภารกิจอันหนักอึ้งและเป็นความท้าทายที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี จากเมื่อปี 2566 จีดีพีภาคเกษตรกรรมไทยเติบโตเพียง 0.3% จากหลายปัจจัยความท้าทายหลายด้านเช่นเดียวกับเกษตรกรโลกที่ต้องเผชิญ

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

ซึ่งเรื่องความท้าทายภาคเกษตรนี้ได้มีการหารือกันในเวทีการประชุมรัฐมนตรีเกษตรโลก (Global Forum for Food and Agriculture) ครั้งที่ 16 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ว่าจีดีพีภาคการเกษตรในประเทศส่วนใหญ่ตกต่ำ

จนมีการประท้วงของเกษตรกร ซึ่งประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เมื่อปี 2566 จีดีพีเกษตรเติบโตเพียง 0.3% ทั้งที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรเบอร์ต้น ๆ ของโลก ข้าว ที่ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก แต่วันนี้แข่งขันกับเวียดนามไม่ได้

หรือสินค้าประมง ซึ่งประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัดประสบปัญหาหลังจากการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU ตนใช้เวลาทบทวนเรื่องประมง 4 เดือน ลงพื้นที่กับนายกรัฐมนตรี เรียกกลุ่มประมงต่าง ๆ มาหารือ แก้กฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบกรมประมง 19 ฉบับ

และตอนนี้ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ก็พร้อมเข้าสภาแล้ว การแก้ปัญหาตรงนี้จะทำให้การประมงกลับมาชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง และตอนนี้สินค้ามาเต็มไปหมด ราคาตกต้องมาทำการบ้านเรื่องการตลาด เป็นต้น

ปัจจัยความท้าทายจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีที่คาดว่าจะเกิดเอลนีโญ แต่กลายเป็นว่า ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา น้ำท่วมทุกภูมิภาค เราไม่สามารถพยากรณ์สภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหมือนกันหมดทั่วโลก

FTA นำเข้าสินค้าเกษตรกรทะลัก

ที่ผ่านมาความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ไทยมักจะเสียเปรียบทุกเรื่องและขาดดุลการค้ากับประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ จากที่ไปเซ็นโดยไม่คิดว่าอนาคต เกษตรกรไทยได้เปรียบอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น เอฟทีเอออสเตรเลีย เปิดนำเข้าเนื้อทุกประเภท ส่วนไทยสามารถ FTA ส่งออกเป็ดปรุงสุกได้ แต่ก็มาตรฐานที่เข้มงวดจนผู้ส่งออกหลายรายเจ๊ง แต่เนื้อทุกอย่างจากออสเตรเลียทะลักเข้ามาเต็มไปหมด หรือด่านสิงขร ช่องทางไทย-พม่า ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไทยส่งออกเพียง 60 ล้านบาท แต่นำเข้าภาคการประมงอย่างเดียวเข้ามามากกว่า 3 พันกว่าล้าน แล้วอย่างนี้ประเทศไทยจะไม่เจ๊งได้อย่างไร

“เมื่อใดก็ตามที่มีการเสนอว่า ต้องนำเข้าสินค้าเกษตร ผมค้านทุกอย่างเพราะบ้านเราเป็นเมืองผลิตทำไมต้องสั่ง เกษตรกรจะอยู่อย่างไร ตอนนี้นากุ้งกลายเป็นนาร้าง เพราะสั่งกุ้งจากต่างประเทศจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกกุ้ง ราคากุ้งในตลาดตกลง”

สกัดสินค้าเกษตรเถื่อนดันราคา

นอกจากนี้ การที่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากสินค้าเถื่อน ทำให้ผมต้องประกาศนโยบายทำสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน ทั้งหมู ตีนไก่ ยางพารา ที่ราคาตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรนำเข้าเถื่อนส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น เช่น น้ำยางดิบจาก กก.ละ 30 ขณะนี้เพิ่มเป็น กก.ละ 63 บาทแล้ว

นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า การแก้ปัญหาจีดีพีนั้นใช้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้” ซึ่งด้านการตลาด ไทยมีโอกาสอย่างมากเพราะหลายประเทศทั่วโลกกำลังเจอกับปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพจึงต้องหาแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่ที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ จึงมาที่ไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งข้าว น้ำตาล และผลไม้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออร์เดอร์น้ำมันปาล์ม 2 ล้านตันจากอินเดีย ข้าว 2 ล้านตันจากมาเลเซีย และอีกหลายประเทศที่จะตามมา

ในส่วนการพัฒนานวัตกรรมได้ประสานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่องนวัตกรรมและงานวิจัยให้มาใช้กับเกษตรกรจริง พร้อมเตรียมจัดตั้งกองพิเศษสำหรับขึ้นทะเบียนเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกรในทุกจังหวัด

“ผมกลับมาทำการบ้านเพิ่ม ทั้งผมและข้าราชการต้องทำงานหนัก เช่นเดียวกับนายกฯที่ไม่เคยหยุดว่างเว้นจากการทำงาน แม้แต่เสาร์อาทิตย์ก็ลงพื้นที่ กำหนดเคพีไอรายไตรมาสจากเดิมปีละครั้ง เพื่อให้ข้าราชการทุกระดับทำงานมีประสิทธิภาพ และให้ประสิทธิผลต่อเกษตรกร”

ด้านการช่วยเหลือทางการเงินนั้น งบประมาณที่กระทรวงเกษตรฯได้รับ เทียบกับการดูแลเกษตรกร 50 ล้านคน เฉลี่ยออกมาเพียงรายละ 3,000 บาทเท่านั้น การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับเกษตรกรนั้น กระทรวงหันไปปลดล็อกการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แปลงเป็นโฉนด ช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 2 ล้านครอบครัว ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้

“ภายใต้รัฐบาลการนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมเป็นอันดับแรก โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน สะท้อนปัญหาที่ต้องแก้คืออะไร จะเพิ่มรายได้ได้อย่างไร เวลาผมลงพื้นที่แล้วไปถามพี่น้องว่า ค่าไฟแพงหรือไม่ ค่าปุ๋ยแพงไหม ก็ได้คำตอบเดียวกลับมาว่าแพง แต่เมื่อถามถึงราคา ทุกคนก็ประสานเสียงกลับว่า ถูก พร้อมให้นิยามว่าตอนนี้เป็น 3 จ. คือ จน เจ็บ เจ๊ง” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว

แก้หนี้เกษตรกร เพิ่มรายได้

ขณะที่ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้เกษตรกรเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯสิ่งแรก คือ นโยบายพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เพื่อให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสได้มีที่ยืนในสังคม และกระทรวงเข้าไปแก้ปัญหาที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ด้วยการปราบสินค้าเกษตรนำเข้าแบบผิดกฎหมาย

ไชยา พรหมา
ไชยา พรหมา

สเต็ปต่อมา คือ การแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนทางการเกษตร เช่น เรื่องปุ๋ย ส่วนแนวทางการเพิ่มรายได้ จะเปิดตลาดสินค้าส่งออก โดยสนับสนุนให้สร้างรายได้จากปศุสัตว์มาเป็นรายได้หลัก เตรียมขยายตลาดส่งออกวัวมีชีวิตไปต่างประเทศ เช่น เวียดนามและจีน ผ่านทางเรือ จากเดิมส่งออกทางรถยนต์ตามชายแดน ซึ่งการขยายตลาดจะช่วยลดปัญหาราคาวัวในประเทศตกต่ำ เพราะสินค้าล้นตลาดมากกว่าการบริโภค

เปิดตลาดวัวมีชีวิต

อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดสินค้าวัวนั้นต้องเตรียมเรื่องการสร้างมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไทยสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยได้ โดยการตั้งศูนย์กลางในการส่งออกสินค้ามีชีวิตปลอดภัยไปจีน เช่น ใน จ. เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

รวมไปถึงท่าเรือบางสะพาน เพื่อเป็นท่าเรือสำหรับสินค้าปศุสัตว์แยกจากท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งใช้ส่งสินค้าอุตสาหกรรม โดยจะเริ่มส่งออกลอตแรกไปเวียดนาม 2,000 ตัว ในเดือนมีนาคมนี้

“ตลาดจีนล่าสุดนายกได้ไปเจรจาตลาดจีน เพื่อผลักดันวัวไทยไปตลาดจีน แต่ยังติดปัญหาเรื่องโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยเยอะ ซึ่งทำให้การส่งออกเราต้องไปใช้ช่องทาง สปป.ลาว และต้องกักโรคประมาณ 75 วัน ถึงจะสามารถส่งออกไปจีนได้ เพราะดูเรื่องโรค และสารเร่งเนื้อแดง สิ่งเหล่านี้จึงต้องใช้เวลา แต่ต่อไปเรามีเป้าหมาย คือ เราต้องการส่งออกตรงไปถึงจีน เพราะมีคำสั่งซื้อแต่ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของจีนด้วย”นายไชยากล่าว

แปรรูปปศุสัตว์สร้างมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาตลาดสินค้าปศุสัตว์แปรรูปส่งออกไปต่างประเทศ โดยจากที่ได้สำรวจพบว่ามีโรงเชือดที่ชุมพรได้มาตรฐานฮาลาล แต่ปัจจุบันมีความสามารถเชือดได้ 200 ตัวต่อวัน ทั้งยังขาดเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน รัฐบาลจึงควรสนับสนุนให้กิจการเหล่านี้มีการเติบโต

การแปรรูปเป็นสินค้าพรีเมี่ยม สร้างรายได้ ขยายโอกาส ให้ผู้ประกอบการผู้เลี้ยงเกษตรกรรายย่อยหากสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้

“ชีวิตเกษตรกรเป็นอาชีพที่ด้อยโอกาสในสังคม ในวันนี้ในฐานะรัฐมนตรี อยากจะเห็นว่ายุคนี้เป็นยุคเกษตรยุคใหม่ เกษตรที่มีคุณภาพ และเป็นอาชีพเกษตรกรรมสามารถสร้างรายได้ มีหลักประกันให้ ต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของผม”