เปิดแผนปฏิบัติการฝนหลวงดับฝุ่น.PM 2.5

‘ธรรมนัส’ รมว.เกษตร สั่ง ลุยปฏิบัติการฝนหลวงดับฝุ่นพิษต่อเนื่อง พบมีฝนตกในพื้นที่ปริมณฑลฝั่งตะวันออก และค่าฝุ่นในพื้นที่ กทม. มีแนวโน้มลดลง

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม

ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรม ปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และโดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน (สีส้ม)

ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาชีวมวลในภาคตะวันออกและประเทศเพื่อนบ้าน พบจุดความร้อน (Hot Spot) ค่อนข้างสูง ประกอบกับบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับอิทธิพลลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ จึงส่งผลให้พัดพาฝุ่นละอองจากการเผาชีวมวลของประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งภาคกลางของประเทศไทย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

Advertisment

ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ประกอบด้วย 1. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ใช้อากาศยานขนาดกลางชนิด CASA จำนวน 2 ลำ และอากาศยานขนาดเล็กชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

2. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอำเภอหัวหิน สนามบินหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้อากาศยานขนาดกลางชนิด CASA จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือด้านฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

และ 3. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ สนามบินนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้อากาศยานขนาดเล็กชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือด้านเหนือของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งทั้ง 3 หน่วยจะสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างทั่วถึง

ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ สนามบินกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก สนามบินกองบิน 46 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและตอนล่างอีกด้วย

Advertisment

สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก แบ่งออกเป็น 3 เทคนิค ได้แก่

1.การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลมของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย

2. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง

ดับฝุ่น.PM 2.5

และ 3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำ เพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นบรรยากาศผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion (ชั้นบรรยากาศผกผัน) เพื่อเปิดให้เกิดช่องระดับฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน

นายสุพิศ กล่าวว่า ในระยะนี้สภาพอากาศมีแนวโน้มเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 65 – 75% มีโอกาสบินปฏิบัติการแล้วมีฝนตก ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

ที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดระยอง และอำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นบินปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กใน พื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ดังกล่าวลดลง รวมถึงขึ้นบินปฏิบัติการ   ฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ทำให้มีฝนตกในพื้นที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวันเพื่อวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขจะมีการขึ้นบินปฏิบัติการทันที โดยประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวัน โดยติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook   กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr