WHAUP ปี’66 โชว์กำไรแตะ 1,587 ล้าน โต 254% ลุยขยายพอร์ตผลิตไฟฟ้าแตะ 1,000 MW

สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ
สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ

WHAUP โชว์กำไรปี’66 แตะ 1,587 ล้านบาท โต 254% บอร์ดเคาะจ่ายปันรวมทั้งปี 0.2525 บาท/หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. 67 หนุนพอร์ตการผลิตไฟฟ้า 1,000 MW ตั้งเป้า EBITDA 5 ปี ทะลุ 30,000 ล้าน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดปี 2566 โดยบริษัทรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 4,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% และมีกำไรปกติ (Normalized Net Profit) จำนวน 1,587  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 254% ขณะที่มีกำไรสุทธิซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของกำไรปกติมีปัจจัยหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า SPP ที่ค่า Ft ได้ปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน Gheco-One ที่รับรู้ค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น

ธุรกิจสาธารณูปโภคน้ำโตต่อเนื่อง

ภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ทั้งในประเทศและต่างประเทศในปี 2566 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีปริมาณยอดจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2565 ปัจจัยหลักในประเทศมาจากปริมาณยอดจำหน่ายน้ำดิบ (Raw Water) และผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Product) ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนาม บริษัทมียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18% โดยปัจจัยหลักมาจากปริมาณยอดจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายพื้นที่การให้บริการ และปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่มลูกค้าเดิม และกลุ่มลูกค้าใหม่ ส่งผลให้บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการ Duong River ในปี 2566 ลดลงเหลือเพียง 8 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ในปี 2567 นี้

สำหรับในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมที่ 178 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นภายในประเทศ 142 ล้านลูกบาศก์เมตร และในประเทศเวียดนาม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการใหม่ ๆ ทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ

นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุนในธุรกิจน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดการเติบโตและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้ เช่น การพัฒนา Smart Water Platform ด้วยการนำ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาประยุกต์ใช้ และยังมองหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ ๆ อาทิเช่น โซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ธุรกิจไฟฟ้ากำไรโต 200% ทะลุพันล้าน

ด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ในปี 2566 บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 1,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 200% โดยได้รับปัจจัยบวกจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่า Ft ที่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้รับรู้กำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Gheco-One เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 บริษัทได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Private PPA จากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มจำนวน 42 สัญญา จำนวนรวม 50 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีจำนวนสัญญาโครงการ Private PPA สะสมทั้งสิ้น 183 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 109 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 733 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทยังได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เฟส 1 จำนวน 5 โครงการ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ทั้งหมดภายในช่วงไตรมาส 1 ถึง ไตรมาส 2 นี้

กลยุทธ์ปี’67 ขยายสู่นวัตกรรมใหม่ ตั้งเป้า EBITDA 30,000 ล้าน

สำหรับแผนกลยุทธ์ด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในปี 2567 บริษัทพร้อมเปิดโอกาสในด้านการลงทุนผ่านนวัตกรรมใหม่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading) และการซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) รวมถึงหาโปรเจ็กต์การลงทุนใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า

นอกจากนี้ จากแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมในปีนี้ ส่งผลให้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามสัญญาแล้วจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทเป็น 1,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 17% จากปีก่อน ซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

จากแผนการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งทางด้านธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) และธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (2567-2571) ที่ 30,000 ล้านบาท และยังคงรักษาอัตรากำไร EBITDA margin ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50% พร้อมทั้งตั้งงบฯลงทุนภายใน 5 ปี ข้างหน้าไว้ที่ 21,200 ล้านบาท

เคาะจ่ายปันผล 0.1925 บาทต่อหุ้น เริ่ม 15 พ.ค.นี้

จากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตรารวม 0.2525 บาทต่อหุ้น ซึ่งเมื่อหักการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.060 บาทต่อหุ้นที่บริษัทได้จ่ายไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีกในอัตรา 0.1925 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 25 เมษายน 2567 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนศักยภาพความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินที่มั่นคงและการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอของบริษัท