สร.กยท. เดินหน้าค้าน “คนนอก” ที่ไม่ใช่พนักงาน กยท.มาเป็นรองผู้ว่าการ

นายมานพ เกื้อรัตน์
นายมานพ เกื้อรัตน์

สร.กยท. เดินหน้าค้าน “คนนอก” ที่ไม่ใช่พนักงาน กยท.มาเป็นรองผู้ว่าการ หวังสร้างจุดเปลี่ยน ปลดล็อก พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับ กรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 จำกัดการเติบโตตามสายงาน

วันที่ 6 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) จัดกิจกรรมคัดค้านประกาศคณะกรรมการสรรหารองผู้ว่าการที่จะพิจารณาดำเนินการรับสมัครคัดเลือก บุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ (นักบริหาร 10) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากที่ได้ทำจดหมายเปิดผนึกแสดงความการคัดค้านไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

นายมานพ เกื้อรัตน์ ประธาน สร.กยท. กล่าวว่า การคัดค้านกรณีที่การยางแห่งประเทศไทยกำลังจะรับบุคคลภายนอกเข้ามารับตำแหน่ง ผู้บริหารระดับสูงในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ทางสหภาพก็ดำเนินการคัดค้านมาโดยตลอดในช่วงของการเปลี่ยนผ่านซึ่งทางเราเห็นว่าการมองบุคคลภายนอกเข้ามารับตำแหน่งทุกครั้งไม่ได้เกิดประโยชน์อย่างไรกับการยาง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทยและสมาชิก

“เราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพวกมากลากไปหรือแม้จะเป็นอำนาจทางการเมืองอะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้พนักงานการยางของการยางแห่งประเทศไทยระดับ 1-10 ซึ่งการเริ่มทำงานตั้งแต่ระดับ 1 ก็ไต่ระดับไปเรื่อย ๆ พอถึงระดับ 8 ระดับ 9 และพอถึงระดับ 8 ระดับ 9 ก็หยุดชะงักลงไปเรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลและในช่วงหลังทาง กยท.ก็มีการออกระเบียบอย่างชัดเจนแต่ช่วงหลังก็ยังปรากฏเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาอีก”

“เมื่อพนักงานที่ไต่ระดับขึ้นมาจนถึงระดับ 8 ระดับ 9 ไม่สามารถก้าวหน้าในอาชีพต่อไปได้เพราะติด พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ทำให้พนักงานสามารถอยู่ในตำแหน่งสูงสุดได้เพียงระดับรองผู้ว่าการการยางซึ่งก็มีปัญหาทุกครั้งและคราวนี้เราก็พยายามรณรงค์เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าไม่ใช่สหภาพจากพวกมากลากไปแต่นี่เป็นการปกป้องสิทธิพื้นฐาน สิทธิที่พึงมีเพราะเราเองไม่มีอำนาจจะทำหน้าที่บริหารหรือจะทำอะไรมากไปกว่ากันรณรงค์เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและ ให้เห็นถึงความสำคัญของพนักงาน”

สำหรับเป้าหมายการจัดกิจกรรมนี้จะดำเนินการต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความรับรู้และเข้าใจนำไปสู่การยอมรับและปรับเปลี่ยน เพราะถ้าหากความเห็นต่างไม่ได้รับการยอมรับก็จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในส่วนของการทำงานเช่นกัน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 การยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) ทำหนังสือ “ตอบประธานบอร์ด”

ภายหลังสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) ได้แสดงจุดยืน พร้อมขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อคัดค้านประกาศคณะกรรมการสรรหารองผู้ว่าการที่จะพิจารณาดำเนินการรับสมัครคัดเลือก บุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ (นักบริหาร 10) ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 หรือรับสมัครและพิจารณา “คนนอก” ที่ไม่ใช่พนักงานมาเป็นรองผู้ว่าการ จนมีข่าวของประธานบอร์ดกล่าวถึง สหภาพ ก็ต้องเรียนว่าจากที่ติดตามข่าว

1.งานนโยบาย & งานบริหาร ก็ยังคงเห็นได้ถึงความสับสนให้คิด แยกไม่ออก และไม่มีความเป็นสากล เห็นได้จากการขาดการยอมรับการมีส่วนร่วม เสียงสะท้อนแห่งการปกป้องสิทธิพื้นฐานของพนักงานที่ทุ่มเททำงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพกลับถูกด้อยค่า ไม่ยอมรับ ส่งผลให้คนทำหน้าที่บริหารงานจะทำงานลำบาก และเป็นเสียงสะท้อนจากสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรการรวมตัวของคนทำงานที่มีความเป็นสากลด้วย ทำให้น่าคิด…

2.ปรากฏข้อความองค์กรไม่ใช่สมบัติใครคนไทยทุกคนมีสิทธิ ต้องชื่นชม แต่อยากจะบอกว่าพนักงานทุกคนย่อมรู้ดีและสหภาพนั้นก็ย่อมจะรับรู้มาตลอดว่ารัฐวิสาหกิจ หรือ กยท. เป็นสมบัติของชาติและประชาชนควรปกป้องไว้ทำหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชน ซึ่งได้ทำหน้าที่นี้และร่วมกันจัดงานวันรัฐวิสาหกิจสะท้อนให้เห็นภารกิจเพื่อความมั่นคงของประชาชนมาโดยตลอด และถือเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งที่อยู่ในการจัดตั้ง

แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับแนวนโยบายของตน ของคน หรือของใคร มาแล้วพ้นไป ไม่เชื่อมนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อยอดกันได้ แล้วแต่ลมพัดหวนของการเมืองไทย

3.สวัสดิการเหลื่อมล้ำ คงต้องให้เวลาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดอีกสักหน่อยว่า แท้จริงแล้ว ปัญหาอยู่สหภาพ หรืออยู่ที่ใคร แต่อยากจะบอกกล่าวไว้สักหน่อยว่า การปรับปรุงสวัสดิการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สหภาพ และ กยท. ได้ดำเนินการปรับปรุงไปหลายส่วนแล้ว คงเหลือค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่าบ้าน ก็ได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานเดียวกันดีที่สุดให้แล้ว

แต่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ด้วย กว่าจะเสนอเข้าบอร์ดได้ ต้องเข้าอนุบอร์ด เข้าออก เข้าออก หมดวาระ มีคนมาแทน เข้าออก เข้าออก นับครั้งไม่ถ้วน แต่ละครั้งต้องให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี 7 มีนาคม 2560 และดีใจที่ได้ยินว่ามีนาคม 2567 จะดำเนินการให้เรียบร้อย แต่ก็ให้ทำนายไว้ก่อนได้เลยว่า…. คอยติดตามกันเองนะ

4.แต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นที่ระดับบริหารทั้งนั้น เพราะไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่ชัดเจน ดูจากรองผู้ว่าการเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี สำหรับระดับบริหารอื่น สหภาพก็ไม่ได้มีส่วนในการพิจารณาใด ๆ ยกเว้นระดับสมาชิกของสหภาพที่ต้องมีคณะกรรมการและมีผู้แทนสหภาพเข้าร่วมด้วย รวมถึงมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีบางคนพยายามจะใช้ข้อยกเว้นเท่านั้น แต่คราวนี้ผลจากฝุ่นก็ทำให้ระดับผู้ปฏิบัติงานซึ่งเรียบร้อยไปแล้ว ยังหยุดนิ่งไม่ขยับใด ๆ ส่งผลให้พนักงานต้องแบกภารกิจแทน พร้อมกับเสียงบ่น

ตอบเท่านี้ก่อน ยังมีอีกหลายประเด็น ไว้ตอบคราวต่อไป เพื่อให้ข้อมูลไม่คลาดเคลื่อน แต่ที่สำคัญอย่าเปลี่ยนประเด็น “ไม่เอารองผู้ว่าการคนนอก และขอให้ กยท.ทบทวนประกาศ” เสียงสะท้อนของความร่วมมือที่สำคัญ ถ้าเป็นตามหลักธรรมาภิบาลทุกอย่าง “พนักงาน”

ทุกคนทำงานย่อมต้องมีความก้าวหน้าสามารถก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ ไม่งั้นกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ก็ประกาศรับคนนอกมาเป็นผู้บริหารระดับสูงในส่วนราชการต่าง ๆ กันหมดแล้ว รวมถึงที่ผ่านมาก็เห็นกันดีอยู่แล้วว่ายังไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับ กยท. นอกจากสนองการเมือง

สร.กยท. เดินหน้าค้าน “คนนอก” ที่ไม่ใช่พนักงาน กยท.มาเป็นรองผู้ว่าการ

สร.กยท. เดินหน้าค้าน “คนนอก” ที่ไม่ใช่พนักงาน กยท.มาเป็นรองผู้ว่าการ