ส่องงบกลางแก้ฝุ่น PM.2.5 ก่อน “เศรษฐา” จัดทัพลุยเชียงใหม่

CMI-PM2.5

สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หรือ “ฝุ่น PM 2.5” เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศ ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงไป ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ไทยมีจุดความร้อนสะสมนับจากเดือนพฤศจิกายน 2566-ปัจจุบัน อยู่ที่ 60,968 จุด สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากเมียนมา 114,740 จุด และกัมพูชา 114,293 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือซึ่งติดท็อป 10 จังหวัดที่มีจุดความร้อนและค่าฝุ่นสูงอย่างต่อเนื่อง

นำมาสู่ความกังวลที่จะเกิดปัญหาบานปลายไปสู่ภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือ ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเดินทางลงพื้นที่ติดตามปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2567

ก่อนที่จะมีประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา ในวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงที่ลมตะวันตกพัดพาเข้าสู่ประเทศ ทำให้บริเวณภาคเหนือเกิดปัญหาฝุ่นควันที่รุนแรงอีกครั้ง

วาระแห่งชาติแก้ฝุ่น

ที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นผลจากไฟป่าในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือที่รุนแรงมากขึ้น จนทำให้การดับไฟยากลำบาก ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่าง เช่น เหตุสลดที่เกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน จ.น่าน

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาก จนได้มีการกำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือก็ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งที่สำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เพียงเป็นกลุ่มจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเท่านั้น

แต่ภาคเหนือยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และยังมีแหล่งกำเนิดและกิจกรรมในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่ความกดอากาศสูงแผ่มาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละออง สะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน

ไฟเขียวงบฯกลาง

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้น

ซึ่งแบ่งเป็นในส่วนของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเงิน 162,708,700 บาท

CMI-PM2.5

โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายโครงการจัดหาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ แบบครบวงจร

ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพย์ฯพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไปโดยคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน ความประหยัด ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

เดินหน้าตามนโยบายเศรษฐา

ทั้งนี้ การเสนอขอใช้งบฯกลางดังกล่าว เป็นไปตามการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ด้านคุณภาพชีวิต คือ ชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน รัฐบาลจะดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำคืนสู่ธรรมชาติ รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลพิษเพื่อคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนไทย

พร้อมทั้งวางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมทั้งรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

ต่อมา คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ไปสู่การปฏิบัติการในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ขอให้ทุกหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบฯกลาง จัดส่งรายละเอียดโครงการไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 โดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาไว้แล้วบางส่วนซึ่งเป็นงบประมาณในภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน อาจจะไม่เพียงพอกับระดับความสำคัญของปัญหาในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีปัญหาวิกฤตหมอกควันรุนแรง

เร่งแก้ไฟป่า 5 เดือน

สำหรับงบประมาณส่วนนี้จะถูกใช้ประโยชน์ สำหรับเป็นการยกระดับในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีจุดความร้อนและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่มักเกิดไฟป่ารุนแรง โดยการจัดจ้างประชาชนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในจุดที่มีความเสี่ยง ทำให้สามารถตรวจพบเหตุไฟป่าได้ทันท่วงที และควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว ไฟไม่ขยายวงกว้าง

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในช่วงระยะเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยแล้ง ลดความรุนแรงและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน