สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้ ยังมีความเปราะบางอย่างมาก จากปัจจัยทั้งจากต่างประเทศที่รุมเร้า ทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ (จีโอโพลิติกส์) อัตราดอกเบี้ยที่สูง ปัญหาราคาพลังงาน ตลอดจนปัญหาภายในประเทศ ที่มีผลต่อกำลังทรัพย์และกำลังซื้อ นำมาสู่คำถามว่า อะไรคือสิ่งที่จะมาปลดล็อกเศรษฐกิจของประเทศ
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสในการสนทนากับ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF พร้อมกับ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF ถึงทิศทางเศรษฐกิจ และมุมมองต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย
ปลุกเศรษฐกิจด้วย “การลงทุน”
นายอดิเรกฉายภาพถึงเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า ประเทศไทยดีที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ตัวนี้จะเป็นพระเอกชูโรง แต่ที่สำคัญอีกด้านคือ การลงทุน
“การที่จะดึงบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาลงทุนในเมืองไทย ตัวท่านนายกฯต้องออกโรงเองแบบนี้เจรจาเงื่อนไขที่ให้ประโยชน์กับนักลงทุน เพราะประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ผู้นำก็มีการดึงการลงทุนอย่างสิงคโปร์ ทุกประเทศมีระเบียบเหมือนบีโอไอของไทย ซึ่งใคร ๆ ก็รู้หมดว่าบีโอไอมีเงื่อนไขเป็นอย่างไร ดังนั้นลึก ๆ แล้ว บริษัทใหญ่ ๆ ที่มาต้องเจรจาให้เงื่อนไขพิเศษกับเขา ให้เฟเวอร์พิเศษ ถ้าบริษัทใหญ่จะมาแล้วเราไม่ให้เฟเวอร์เขา คู่แข่งของเราก็มีที่ดึงเขาไป เราจะไปเอามาตรฐานกลางไม่ได้
สมัยนี้บริษัทใหญ่กับบริษัทใหญ่ เวลาจะค้าขายกัน ซีอีโอกับซีอีโอต้องคุยกันเอง ถ้าให้เซลส์ธรรมดาหรือจัดซื้อไปขายก็จะไม่ได้ แม้กระทั่งเคเอฟซีพยายามเจรจาให้เราส่งไก่ให้กับสาขาต่าง ๆ ทั่วโลก การให้เซลส์มาบิดราคาหมดสมัย ฉะนั้น ประเทศเราต้องกล้าเฟเวอร์เขา”
ถอดโมเดลเวียดนาม
“อย่างสมัยซีพีเอฟไปลงทุนเวียดนาม 30 ปีก่อน กฎเกณฑ์ไม่มี มีเรื่องค่าเช่าที่ดิน เวลาจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศนั้น เราคิดอย่างเดียวว่าประเทศนั้นเติบโตหรือไม่ จะสร้างโอกาสให้ธุรกิจเราหรือไม่ หากเขาเพิ่งจะเติบโต การเข้าไปลงทุนไม่ว่าทางถูกหรือทางผิดเราก็ชนะ เพราะคู่แข่งน้อย แต่ถ้าเราเข้าไปยังประเทศที่เขาอิ่มตัวแล้ว อย่างอเมริกาหรือยุโรป ลงทุนไม่ได้เพราะประเทศเขาอิ่มตัว หมายถึง ประชากรไม่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมก็อิ่มตัวแล้ว หากเป็นอย่างนี้เราไปแข่งเหนื่อย ต้องไปแข่งในที่อุตสาหกรรมยังโต 30 หรือ 50 ปี เพราะอย่างนี้เท่ากับช่วยเราทางอ้อม เพราะคู่แข่งไม่ได้มาก และเราก็เริ่มโตไปพร้อมกับเขา”
มองโอกาสในวิกฤต
ตอนนี้โรงงานในประเทศที่มีปัญหาจีโอโพลิติกส์ โอกาส รายได้-สิทธิประโยชน์เพิ่ม หนี้ลดลง
ยกตัวอย่าง วันนี้มีสงครามใน 2 ประเทศที่เราไปลงทุน เมียนมา ซึ่งทาง CPG (CP Group) ลงทุน ส่วนรัสเซียทางซีพีเอฟไปลงทุน เมื่อคนมองทั้งสองประเทศนี้ คงคิดว่าคนที่เข้าไปทำธุรกิจน่าปวดหัว หรือยุ่งยาก แต่ตรงกันข้าม เพราะในเมียนมา ธุรกิจยังดำเนินไปได้ปกติและกำไรดีด้วย ส่วนรัสเซียกำไรดีกว่าปกติ และรัฐบาลยิ่งให้ความสำคัญกับนักลงทุน เช่น ปกติหากบริษัทกู้เงินเสียดอกเบี้ย 14-15% แต่ช่วงเกิดสงคราม รัสเซียคิดดอกเบี้ย 3-4% รัฐบาลช่วยสนับสนุนให้ เพราะเขาไม่อยากให้เราถอนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราทำธุรกิจอาหารยิ่งมีความสำคัญ เท่ากับว่าช่วยเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ในประเทศเขาด้วย”
“เมื่อครั้งประเทศต้องการคนไปเป็นทหาร บริษัทเรามีการจ้างคนพันกว่าคน ก็มีการขอร้องว่าบริษัทต้องการแรงงาน เพราะคนที่ช่วยผลิตอาหารก็ช่วยประเทศเหมือนกัน จึงทำให้ธุรกิจเรากำไรได้ดีกว่าปกติทั้งสองแห่ง แต่มองจากสายตาคนนอกน่าจะลำบาก แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
อีกด้านหนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของประเทศรัสเซีย อ่อนค่าจาก 70 รูเบิล เป็น 90 รูเบิล ค่าเงินแบบนี้เราไม่ได้เสียหาย เพราะเรากู้เงินในประเทศ 100% เพื่อขายในประเทศเป็นเงินรูเบิล ตอนนี้เมื่อคิดเทียบจากรูเบิลเป็นดอลลาร์แล้ว หนี้เราน้อยลง นี่เป็นเทคนิค แต่หากบริษัทเอาเงินดอลลาร์ไปลงทุนแต่ต้น หากเจอค่าเงินอ่อนค่าเสียหายมหาศาล
หนุนเอกชนให้ใหญ่
“การส่งเสริมการลงทุนในแต่ละประเทศมีเทคนิคที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งในประเทศไทยจะกังวลว่ารัฐบาลจะช่วยบริษัทใหญ่ แต่บริษัทใหญ่มีการจ้างงานจำนวนมาก อย่างเครือ ซี.พี. มีการจ้างงาน 4 แสนกว่าคน คิดง่าย ๆ ว่า หากเขาไปดูแลคนในครอบครัวอีก 3-4 คน เท่ากับเป็นการช่วยดูแลคน 1.2 ล้านคน ซึ่งคน 1.2 ล้านคนนี้ต้องมีบริษัทมาจ่ายเงินเดือน และต้องนำมาจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขณะที่บริษัทก็ต้องเสีย VAT เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งภาษีทั้งหมดรัฐบาลจะต้องนำไปพัฒนาประเทศหรือไปช่วยคนจน ฉะนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนธุรกิจเอกชนให้ใหญ่ และไปแข่งขันกับทั่วโลกได้”
ซีพีเอฟ มียอดขาย 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นขายในประเทศแค่ 30% โดยมีการส่งออกจากประเทศไทย 5% แล้วเงินที่เราไปลงทุนในต่างประเทศ 60-70% นำกลับมาเข้าบริษัทในประเทศไทย มาโชว์กำไรก็ต้องมาเสียภาษีให้รัฐบาล คำถามคือ ถ้าบริษัทเล็ก ๆ ใครจะไปลงทุนต่างประเทศ เหมือนกับแอปเปิ้ลที่ขายไปทั่วโลก เฟซบุ๊กหรือเมตา คนใช้ 5,000-6,000 ล้านคนทั่วโลก บริษัทใหญ่ขนาด 2-3 ล้านล้าน รัฐบาลอเมริกาก็ยังหนุนเต็มที่ให้เอกชนเขาไปครอบครองตลาดทั่วโลก
แน่นอนว่าการที่เศรษฐกิจดีสัมพันธ์กับกำลังซื้อ ยกตัวอย่างในจีน ปัญหากำลังซื้อในจีนค่อนข้างหนัก มีอสังหาริมทรัพย์ที่ขายไม่ได้จำนวนมาก ภาพของการจับจ่ายยังไม่คึกคัก
“ผมเดินทางไปจีน 2 เดือนก่อนไป สนามบินคนเงียบมาก ประมาณคร่าว ๆ น่าจะมีคนใช้เพียง 10-20% ผมยังมองว่ากำลังซื้อยังถดถอย การใช้เงินคนยังระวังตัว ทุกคนประหยัด ปัญหาเรื่องอสังหาทรัพย์ในจีนซบเซาซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีในการดูแล คนกินกำลังซื้อลดลง ราคาหมูและราคาไก่ไม่ดี”
สอดคล้องกับ “นายประสิทธิ์” ที่มองว่า การที่ท่านนายกรัฐมนตรีเปิดเกมการตลาดทำได้ดีมาก เพียงแต่ผลที่จะเกิดหลังจากที่ท่านไปเยือนประเทศต่าง ๆ ก็ต้องมีอิมพลีเมนเทชั่น ซึ่งอาจจะใช้เวลาบ้าง ประเด็นหลายอย่างที่หารือจะนำไปสู่ประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ยกตัวอย่าง ประเด็นเรื่องฟรีวีซ่าไปหารือกับยุโรป เรื่องนี้จะทำให้การท่องเที่ยวราบรื่นมากขึ้น หากทำได้จะสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศ รวมถึงการเจรจากับเทสลา เพื่อจัดหาที่ดิน 2,000 ไร่ ซึ่งหากทำได้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
มองแนวโน้มตลาดอาหารยังโต
เมื่อย้อนถามถึงแผนงานของซีพีเอฟหลังจากผ่านพ้นปี 2566 ที่มียอดขาดทุนสุทธิ 5,200 ล้านบาท จากสถานการณ์ราคาหมูที่ตกต่ำลง ทั้งในตลาดจีนและไทย
นายประสิทธิ์กล่าวว่า จากการประเมินแนวโน้มสินค้าเกษตรและอาหารปีนี้ยังคงเติบโต ส่วนในด้านราคาอาจจะขยับได้เล็กน้อย เพราะขณะนี้ผู้บริโภคทั้งในไทยและในจีนแทบจะไม่แตกต่างกัน คือ เน้นการประหยัด ธุรกิจมีการแข่งขันสูง
“จากการเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ล่าสุด แข่งขันกันอย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะระบบค้าออนไลน์ ทุกคนทำออนไลน์หมด รายได้มี 30-40% ส่วนไทยสัดส่วน 10-20% นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ค้าปลีกชื่อแซมกับคอสโก้ของอเมริกา 40 สาขา แซมลูกค้าเต็มร้าน และออนไลน์ 40% จากข้างนอก เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องปรับตัว” นายประสิทธิ์กล่าว
CPF ปรับแผนชู Tech
นายประสิทธิ์เล่าว่า ตอนนี้ซีพีเอฟได้ตั้ง บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ดส์ โซลูชั่น ซึ่งธุรกิจนี้จะเป็นตัวแทน ที่รับหน้าที่เรื่องการขายหรือการทำการตลาด และการขนส่งให้กับโรงงานต่าง ๆ เพื่อรวมศูนย์กันเป็นที่เดียว เป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการบริการ และลดต้นทุนค่าขนส่งทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย เบื้องต้นการลงทุนระบบนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณลงทุนมากนัก เพราะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟได้พัฒนาระบบหลังบ้าน โดยนำเอาระบบ AI มาใช้ในระบบหลังบ้าน ยกตัวอย่าง ระเบียบบริษัทใช้ AI ทั้งหมด เหมือนกับ ChatGPT พนักงานสามารถตอบคำถามให้พนักงานได้ผ่านแอปพลิเคชั่น CPF Connect ซึ่งมองว่าในอนาคตการนำเอไอไปใส่ในทุก ๆ เรื่องจะสร้างประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
พัฒนา Product ตอบโจทย์
นายประสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีแล้ว ยังปรับการทำตลาดและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เช่น อาหารจากพืช หรือแพลนต์เบส ขณะนี้เทรนด์ลดความร้อนแรงลงมา บริษัทผู้ผลิตแพลนต์เบสใน
ต่างประเทศหลายรายยอดขายลดลง แต่จากกระแสนี้ไม่ใช่คนไม่ดูแลสุขภาพ แต่ผู้บริโภคจะเน้น Healthy Food ซึ่งหมายถึงอาหารเมนูสุขภาพที่ทานในทุกวัน เป็นอาหารเอเชียมีข้าวเป็นส่วนประกอบ จากเดิมที่เน้นเมนูตะวันตก
สุดท้าย นายอดิเรกให้บทสรุปว่า ทุกคนที่มองว่าแพลนต์เบสเป็นเนื้อแห่งอนาคตที่จะมาแทนเนื้อ ผมกับคุณประสิทธิ์ไปดูเซลล์เบสที่เป็นผลงานของสตาร์ตอัพอิสราเอล ลักษณะการพัฒนาเนื้อจากห้องทดลอง เขามีเข็มฉีดยาเป็นท่อแล้วก็วิ่งไปสู่เข็ม ไปสร้างเนื้อมาทอดให้เราชิมเพราะอยากให้เราร่วมลงทุน ผมว่ายากเหมือนห้องไอซียูเลย และต้นทุนก็แพงมาก 10 เท่า
แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากอิสราเอล คือ ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนพัฒนาสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี ให้งบฯถึง 90% ให้ไปลองผิด ถ้าผิดไม่ต้องจ่ายคืน แต่ถ้าถูกจ่ายคืนรัฐบาลแค่ 5% ทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ตอัพจำนวนมาก จนอิสราเอลมีสตาร์ตอัพเป็นอันดับ 2 ของโลก