กุ้งราคาตก…ยุ่งกว่าลิงแก้แห ! CPF นำร่องอุ้มเกษตรกร

ฝุ่นตลบแก้ปัญหาราคากุ้ง “กฤษฎา” ถกเอกชน-ผู้เลี้ยงกุ้งป่วนราคา จับตา 10 พ.ค. เคาะมาตรการยกระดับราคา ด้านเอกชน “ซีพีเอฟ” รับลูกภาครัฐเปิดเกมลดราคาอาหาร-ลูกกุ้ง รายแรก

จากการที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผู้ประกอบการส่งออกเข้าหารือเพื่อแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผลการหารือร่วมกันในเบื้องต้นจะมีมาตรการเฉพาะหน้าหรือเร่งด่วน ได้แก่ การลดราคาปัจจัยการผลิต ทั้งการลดราคาลูกกุ้งกับลดราคาอาหารกุ้งกับมาตรการระยะปานกลางและระยะยาวที่จะออกมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาทั้งหมดภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้นั้น

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลการหารือร่วมกันเบื้องต้นเตรียมกำหนดมาตรการระยะเฉพาะหน้าหรือเร่งด่วน และมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว โดยมาตรการระยะเร่งด่วน คือ การหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเจรจาขอปรับลดราคาปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงกุ้งตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ร้องขอ และการขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่รับซื้อกุ้งเพื่อส่งออก รับซื้อกุ้งขาวแวนนาไมจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นกว่าราคาที่รับซื้ออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ราคา 105-115 บาท/ขนาดกุ้ง 100 ตัว ซึ่งทางภาคเอกชนได้ตอบรับข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯไปหารือกันในกลุ่มผู้ประกอบการอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องราคาที่ชัดเจน

ส่วนมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว คือ การบริหารจัดการผลผลิตกุ้งให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการควบคุมคุณภาพการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากขีดความสามารถแข่งขันการส่งออกกุ้งของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากที่เคยส่งออกเป็นอันดับ 1 แต่ปัจจุบันมีประเทศคู่แข่งที่ผลิตกุ้งในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าและได้ผลผลิตที่มากกว่าเกิดขึ้น โดยเฉพาะอินเดียที่มีผลผลิตกุ้งในปีนี้ถึง 6-7 แสนตัน ขณะที่ไทยมีผลผลิตกุ้งเฉลี่ย 2 แสนตัน เมื่อประเทศคู่แข่งผลิตกุ้งได้มากกว่าในต้นทุนที่ต่ำกว่าก็เกิดการแย่งตลาดเกิดขึ้น จึงส่งผล

กระทบต่อราคากุ้งในประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯต้องเร่งจัดระเบียบการเลี้ยงกุ้ง การขึ้นทะเบียนฟาร์มของเกษตรกร เพื่อให้สามารถกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพเพาะเลี้ยงไม่ให้มีการใช้ปัจจัยการผลิตเกินความจำเป็นที่ส่งผลต่อต้นทุนที่สูง รวมถึงคุณภาพกุ้งของไทยที่เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น และขอความร่วมมือภาคเอกชนลดปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งด้วย

ขณะที่นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ผลผลิตกุ้งไทยยังออกไม่มาก มีเพียง 4.6 หมื่นตัน เนื่องจากผลกระทบจากฤดูหนาวและฝนตกมากจึงชะลอการเลี้ยงมาผลิตออกสู่ตลาดมากอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 แทน คาดว่าผลผลิตกุ้งจะออกมากถึง 4-5 หมื่นตันในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ขณะนี้ราคากุ้งขาวแวนนาไมกลับตกต่ำลงหนัก ขนาด 100 ตัว/กก.เหลือ กก.ละ 110 บาท ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต จากปกติจะอยู่ที่ระดับ กก.ละ 120-130 บาท ส่วนกุ้งขาวขนาด 70 ตัว/กก.ตกลงมาก จากปกติเดือน พ.ค.ทุกปีจะอยู่ที่ กก.ละ 150-160 บาท เพราะมีการนำไปผลิตเกี๊ยวกุ้งส่งออกกันมาก เหลือเพียง กก.ละ 120 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุน ทางผู้ส่งออกไทยอ้างว่าไม่มีออร์เดอร์

และห้องเย็นเก็บสต๊อกกุ้งไว้เต็มไปหมด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตกุ้งทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้ผลผลิตกุ้งของอินโดนีเซียกำลังออกสู่ตลาด อินเดียที่ผลิตมากขึ้นเป็นปีละ 6-7 แสนตันจะออกสู่ตลาดเดือนหน้า มีการเปิดขายในราคาต่ำ ผู้นำเข้ารายใหญ่จึงฉวยโอกาสเพื่อกดราคารับซื้อ ไทยที่มีต้นทุนผลิตสูงกว่าอาจขายไม่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ ตอบรับประเด็นหารือกับภาครัฐ โดยเริ่มมาตรการระยะเร่งด่วนในการปรับลดราคาจำหน่ายลูกกุ้งและอาหารกุ้ง โดยมีกลุ่มซีพีเอฟ ผู้ผลิตรายใหญ่เป็นรายแรกที่นำเกมประกาศลดราคาขายลูกกุ้งและอาหารกุ้ง

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทประกาศปรับราคาอาหารกุ้งลดลง 25 บาทต่อถุง สำหรับขนาดถุงละ 25 กิโลกรัม มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.-30 มิ.ย.นี้โดยไม่มีการจำกัดปริมาณการซื้อต่อราย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการเลี้ยงกุ้งอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ที่บริษัทปรับราคาลูกกุ้งจากตัวละ 19 เหลือ 16 สตางค์ไปแล้วเมื่อวันที่1 พ.ค.ที่ผ่านมา

“ซีพีเอฟยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารกุ้งและลูกกุ้ง ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมกุ้งโดยรวมสามารถผ่านพ้นวิกฤตราคากุ้งไปได้” นายไพโรจน์กล่าว

รายงานข่าวกล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตอาหารกุ้งรายอื่นได้มีการพิจารณาปรับลดราคากุ้งลงมาเช่นกัน เช่น บริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้ปรับลดราคาจำหน่ายอาหารกุ้งลงมาประมาณถุงละ 10 บาท เป็นต้น