“อุตตม”รับข้อเสนอเอกชนในเวทีครม.สัญจร ปั้นนิคม Motor Sport บุรีรัมย์-ฟื้นเหมืองหินสร้างอ่างเก็บน้ำสุรินทร์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2561 ณ จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์

​​กระทรวงอุตสาหกรรมโดยส่วนราชการที่อยู่ในภูมิภาคได้จัดประชุมหารือกับเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ ภายใต้แนวคิด “การสร้างรายได้ ขยายโอกาส เสริมเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งนอกจากจะเน้นการช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจด้วยการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไปพิจารณาดำเนินแล้ว ยังมีโครงการและสิ่งที่กระทรวงฯจะเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของจังหวัดเพื่อจะได้เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มีความยั่งยืน รวมทั้งการเสนอมาตรการ กลไก เครื่องมือที่กระทรวงฯ มีในจังหวัดเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบและมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ITC การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการสนับสนุนเงินทุนต่างๆ และมีหน่วยม้าเร็วของ Sme Devolopment Bank ซึ่งเข้าถึงชุมชน

โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.การฟื้นฟูและพัฒนาเหมืองแร่ โดยนำเหมืองเก่าที่ได้เลิกกิจการแล้ว มาฟื้นฟูเป็นอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ หรือสุรินทร์โมเดล ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 27 ไร่ จุน้ำ 600,000 ลบ.ม. ซึ่งโครงการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในการช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

2.โครงการ Inland Container Depot (ICD) ใน จ.นครราชสีมา ที่กระทรวงฯ จะช่วยต่อยอดได้ เช่น พัฒนาเป็นเขตประกอบการโกดังการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์และโครงการด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม และ 3.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ (Motor Sport) ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะมีสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก และมีการนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่จำนวนมาก ประกอบกับเอสเอ็มอีไทยมีความสามารถผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ส่งออกไปยังต่างประเทศหลายประเทศ

โดยมีมูลค่าการผลิตกว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV มีการขยายตัวด้านยานยนต์ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ผนวกกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ทำให้อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ เติบโตขึ้นตามไปด้วย และ จ.บุรีรัมย์ ได้มองเห็นถึงโอกาสในการจัดตั้ง นิคมฯอุตสาหกรรมประดับตบแต่งยานยนต์ในลักษณะนิคมฯร่วมดำเนินการ ที่กระทรวงฯ พร้อมจะผลักดันต่อหากมีนักลงทุน และมีพื้นที่นิคมฯแล้ว และเห็นว่า จ.บุรีรัมย์ มีตลาดที่ใหญ่พอ ส่วนจะมุ่งเน้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใด ต้องมีการสำรวจความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง

​สำหรับผลสำรวจศักยภาพชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เมื่อปี 2556 ของ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ตบแต่งยานยนต์สูงมาก และเป็นที่นิยมของต่างประเทศ และทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ SMEs จากการศึกษาวิจัยพบว่าชิ้นส่วนที่ไทยมีศักยภาพเป็น Product champion ได้ในกลุ่มรถยนต์ คือ 1.สเกิร์ต สปอยเลอร์ กันชน 2.ล้ออัลลอย 3.บังลมกันแดด 4.ซันลูฟ 5.อุปกรณ์กันขโมย และ 6.โคมไฟหน้า ส่วนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ที่มีศักยภาพสูง คือ 1.หมวกกันน็อค 2.งานพลาสติกตกแต่งตัวถังรถ 3.จานเบรกและคาลิเปอร์ 4.โคมไฟส่องสว่าง 5.โช๊คอัพแต่ง 6.โซ่ และจานโซ่

​สำหรับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนศูนย์กลางเกษตรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไหม ท่องเที่ยวอารยธรรม และการค้าชายแดน โดยจะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเกษตรอุตสาหกรรมและแปรรูป ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ไหม และการส่งเสริมและพัฒนาการค้าการลงทุน และการค้าชายแดน

ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีเครื่องมือทางการเงิน 4 ประเภท คือ กองทุนพัฒนาศักยภาพฯ 1 หมื่นล้านบาท กองทุนฯคนตัวเล็ก 8 พันล้านบาท สินเชื่อLocal Economy Loan และสินเชื่อTransformation Loan ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อกองทุนฯไปแล้วทั้งหมด 34 ราย วงเงิน 86 ล้านบาท