สทนช. เตรียมตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ แก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์

สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมพิจารณาแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำ จังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ หลังการพังทลายของทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์ พร้อมเตรียมตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต เพื่อบูรณาการดำเนินงานเชิงรุกในพื้นที่

วันที่ 17 เมษายน 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยเลขาธิการ สทนช.เปิดเผยผลการประชุมว่า จากกรณีการพังทลายของทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทาน ทำให้น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลทะลักเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 67 ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและพืช รวมถึงน้ำอุปโภค บริโภค ของประชาชน

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว สทนช.ร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้จัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีการเร่งดำเนินการบริหารจัดการให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน กรมชลประทานได้ดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาคุณภาพน้ำที่มีค่าความเค็มค่อนข้างสูงในหลายจุด รวมถึงกำจัดวัชพืชเพื่อชะลอการเน่าเสียของน้ำ อย่างไรก็ตาม จากข้อจำกัดเฉพาะของพื้นที่ส่งผลให้การสูบน้ำเป็นไปได้อย่างล่าช้า

ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานสร้างทำนบชั่วคราวเป็นระยะ เพื่อให้สามารถสูบระบายน้ำเค็มออกได้โดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ กรมชลประทานมีแผนจะระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงมาช่วยเจือจางค่าความเค็ม โดยจะพิจารณาการใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นอันดับแรก ซึ่งจะมีการเสนอแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำป่าสักเพื่อขอความเห็นชอบ

เนื่องจากเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ อย่างไรก็ตาม หากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีไม่เพียงพอ จะมีการพิจารณาขอใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มาใช้สนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป

ในระหว่างนี้กรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ ทางจังหวัดฉะเชิงเทราได้พิจารณาการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งเกษตรกรและชาวประมงที่เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ต่อไป

“ในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ความเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา รวมถึงได้ติดตามผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษ และผลสำรวจความเสียหายของเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมประมง ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ

พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมกันพิจารณาแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบำบัดคุณภาพน้ำในคลองต่าง ๆ ซึ่งใช้สำหรับทั้งการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการประมงให้กลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะมีการเร่งรัดดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

ทั้งนี้ สำหรับทำนบดินชั่วคราวที่กรมชลประทานได้ดำเนินการซ่อมแซมแล้วเสร็จ จะดำเนินการเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงในระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์ในฤดูน้ำหลากด้วย

“ในวันพรุ่งนี้ (18 เม.ย. 67) จะมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการบูรณาการดำเนินงานเชิงรุกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะเวลา 3 วัน ก่อนจะมีการประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอีกครั้งในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง”

ด่วน น้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์ สถานีสูบน้ำท่าถั่วทรุดตัว สั่งเร่งสูบออกบางปะกง