อรรถพล ส่งต่อภารกิจ CEO แก่ ดร.คงกระพัน ขับเคลื่อน ปตท. สู่ความยั่งยืน

อรรถพล” ส่งต่อภารกิจ CEO แก่ ดร.คงกระพัน ตั้งแต่ 13 พ.ค. 67 พร้อมภารกิจเงินลงทุนกว่า 89,203 ล้านบาท เดินหน้าสร้างความยั่งยืนพลังงาน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่กี่วันแล้วที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งต่อภารกิจ CEO ให้กับ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ดร.คงกระพันจะสานต่อการขับเคลื่อน ปตท. ภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ให้เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ผ่านการดำเนินธุรกิจในทุกมิติ สร้างเสถียรภาพทางพลังงาน เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยภารกิจสำคัญนั่นคือ การดำเนินธุรกิจภายใต้เงินลงทุน 89,203 ล้านบาทตามแผน 5 ปี (2567-2571) ซึ่งจะแบ่งเงินลงทุนไว้สำหรับปี 2567 ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท โดยจะใช้เพื่อเดินหน้า 8 โครงการคือ

1.โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดเแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 หลังจากที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์มากว่า 30 ปี
2.โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8
3.โครงการท่อส่งก๊าซบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้
4.โครงการท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 ที่เหลือก่อสร้างเพียง 2-3 กิโลเมตร
5.โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
6.โรงงานประกอบแบตเตอรี่
7.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3
8.ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

Advertisment

สำหรับแผนการลงทุนทั้งหมด 5 ปีนั้น จะถูกแบ่งออกไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท หรือ 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท หรือ 4% บริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท หรือ 31%

ขณะเดียวกัน ยังต้องที่บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่ คือธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)

เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน รวมถึงธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond) หรือธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม New S-curve