“เหล็กไทย” ฟื้นไตรมาส 2 ลุ้นจีนชะลอส่งออก-งบก่อสร้างรัฐออก

Nava
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

สถานการณ์เหล็กในตลาดโลกเปิดปี 2567 ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวแบบเปราะบาง ประกอบกับมาเผชิญปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐรอบใหม่อีก ทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กไทยจะเป็นอย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นาวา จันทนสุรคน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายในคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ชุดประธานเกรียงไกร เธียรนุกุล สมัยที่ 2 จากสมัยแรกที่เคยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.

ผลจากเทรดวอร์รอบใหม่

นายนาวามองว่า เรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่กระทบกับไทยไม่มาก เพราะสหรัฐขึ้นภาษีเฉพาะกับสินค้าประเทศจีน แต่เรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างว่าขนาดอเมริกาซึ่งมีการใช้กฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ตอบโต้การหลบเลี่ยงภาษีเอดี (Anticircumvention : AC) และใช้ภาษีปกป้อง (Safeguards) ยังเอาจีนไม่อยู่ จนต้องมาขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25% แสดงว่า เหล็กจากจีนมาทุ่มตลาดหนักหน่วงจริง ๆ

นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้กับสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จากที่ประชุมร่วมกันให้ทราบว่า ไทยมีเพียงแค่มาตรการเอดี ยิ่งเอาไม่อยู่ ดังนั้น ต้องใช้มาตรการอื่น ๆ

“มองในเชิงกฎหมายแข่งขันทางการค้ามาช่วยอย่างไร เช่น ถ้าสามารถยืนยันได้ว่ามีโรงงานจีนส่งมาขายในไทย โดยมีผู้แทนจำหน่ายตั้งใจขายในราคาต่ำกว่าทุน เพื่อฆ่าคู่แข่ง ให้เราตายก่อน ถือว่าผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า เราจึงขอให้ กขค.ช่วยศึกษา ในมุมนี้ด้วย”

Advertisment

ฟ้องแข่งขันกู้ชีพ เหล็กทรงยาว

ซึ่งจากที่ประชุมกัน (ในวันที่ 21 พ.ค. 67) ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็พยายามหาเคสที่จะเริ่มใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้ามาช่วย น่าจะยื่นเหล็กทรงยาวก่อนเป็นอันดับแรก โดยคิดว่าจะพยายามชี้ข้อมูล เพราะว่าพอจะมีราคาเศษเหล็กทั่วโลก แต่กำลังรวบรวมข้อมูลต้นทุนราคาพลังงานของจีนเป็นการบ้านหนึ่งที่เราทำการบ้านต่อ

สำหรับการยื่นร้องต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้านั้น ทางแกนนำในการยื่นในนามกลุ่มเหล็ก ส.อ.ท. สามารถยื่นฟ้องได้เลย เพราะการฟ้องแข่งขันไม่มีเงื่อนไขเหมือนกับการฟ้องเอดี ซึ่งกำหนดว่าจะต้องให้ผู้ผลิตที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหล็กจีนเป็นผู้ยื่นฟ้องเอง กรณีนี้อาจจะทำในกลุ่มสมาคมได้ คาดว่าจะยื่นได้ในเร็ว ๆ นี้

2 ปัจจัยบวกหนุน

สถานการณ์ราคาเหล็กในไทยช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ไม่ค่อยดี หากเทียบกับต่างประเทศ คือ เราไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้

แต่นับตั้งแต่พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา จะเริ่มมีปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรมเหล็ก คือ งบประมาณภาครัฐออก การก่อสร้างภาครัฐเริ่มดี มีการเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ เช่น ไฮสปีด จะทำให้ความต้องการใช้เหล็กเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีปริมาณความต้องการใช้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ประมาณ 16-17 ล้านตันต่อปี เพราะดีมานด์ดีแต่เศรษฐกิจเราโตต่ำที่สุดในอาเซียน ก็คงจะได้ประมาณนี้ ไม่มีโอกาสจะถึง 20 ล้านตันในปีนี้

Advertisment

อีกด้านหนึ่ง ทางรัฐบาลจีนก็เริ่มเข้มงวดเรื่องการผลิตเหล็ก เกินจากความต้องการใช้ในประเทศ ฉะนั้น ตอนนี้รัฐบาลจีนเริ่มควบคุมเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงทำให้เรามองว่าจากที่เดิมจีนมีแนวโน้มจะส่งออกปีนี้ 105 ล้านตัน อาจจะลดลงเหลือพอ ๆ กับปีก่อน 90 ล้านตัน และล่าสุดโรงงานเหล็กจีนขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนวัตถุดิบ จากที่ก่อนมาอาจจะขายเหมือนซับซิดี้ ตอนนี้ก็เริ่มปรับขึ้น 5-10%

“แนวโน้มครึ่งปีหลังมองว่า การส่งออกจากจีนก็คงยังเยอะ แต่ว่าคงจะไม่สูงตามที่เคยคาดการณ์ไว้ 105 ล้านตัน คาดว่าถ้ารัฐบาลจีนควบคุมพอ ๆ กับปีก่อน น่าจะประมาณ 90 ล้านตัน หรือมากกว่านั้น”

แบงก์เข้มปล่อยกู้

ด้วยเหตุที่สถานการณ์ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ไม่ค่อยดี การใช้กำลังการผลิตเหล็กภาพรวมลดลงเหลือแค่ 28% แต่ตอนนี้พอสถานการณ์จีนเริ่มชะลอตัวลง น่าจะกลับมาเป็น 30-31% ก็ยังถือว่าต่ำอยู่

“เดือนหนึ่ง-เดือนสี่ แย่มาก แต่จากที่แย่ที่สุดก็กลับมาแย่น้อยลง ซึ่งกรณีที่แบงก์เริ่มตัดขายหนี้เสียของผู้ประกอบการเหล็ก สถานะที่เราเห็น เราก็เข้าใจธนาคาร เพราะเขาคงจะดูข้อมูลของไตรมาสแรก ซึ่งเป็นอย่างที่บอก การใช้กำลังการผลิตของโรงงานเหล็กก็แย่ลงจากเคยกว่า 30% ก็ลงไปต่ำกว่า 30% และทิศทางจีนยังทุ่มตลาดเยอะ

ทำให้เขายังต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่มั่นใจว่าหลังจากเดือนพฤษภาคมไปแล้ว ดีมานด์ดีขึ้นจากการก่อสร้างภาครัฐ และการควบคุมการผลิตและการส่งออกเหล็กจากจีนมีแนวโน้มลดลง ก็เชื่อว่า ธนาคารที่มีข้อมูลอัพเดตก็คงผ่อนความเข้มงวดลง”

ลุยเหล็กรีดร้อนเจืออัลลอย

แนวทางที่เราเคยเสนอขอให้ภาครัฐช่วย สิ่งแรก คือ ขอให้ภาครัฐมาช่วยตามที่เคยได้เสนอไป คือ เมื่อมีเอดีแล้วทางจีนก็ยังมีการหลบเลี่ยงนำเหล็กที่ถูกเก็บเอดีไปเจือส่วนผสมอื่น อย่างที่ผ่านมา เจือโบรอน เจือโครเมียม เจือไทเทเนียม

“ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์เตรียมใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงการใช้มาตรการทุ่มตลาด (AC) เคสแรกในเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราภาษีไม่ต่ำกว่า 30% แต่ยังมีที่เข้าคิวรอใช้มาตรการ AC อีก เช่น สินค้าท่อ เหล็กเคลือบ หากมีเริ่มใช้ AC จะเป็นการปรามที่ดี เพราะการใช้ AD อย่างเดียวเอาไม่อยู่ ดังนั้นก็น่าจะดีขึ้น”

ชงเบรกส่งออก “เศษเหล็ก”

ส่วนเรื่องที่ 2 ที่เสนอภาครัฐไป คือ เรื่องที่โลกเริ่มเข้าสู่เรื่องลดการปลดปล่อยคาร์บอน ดังนั้น เรื่องการรีไซเคิลเหล็กนับว่าเป็นประเด็นสำคัญ ที่เคยเสนอ คือว่า อยากให้สงวนการส่งออกเศษเหล็ก เพราะเป็นทรัพยากรที่มีค่า หากยิ่งจะต้องมีการนำมาใช้รีไซเคิล เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ก็ขอให้สงวนไว้ใช้ในโรงงานในไทยก่อน

“ปัจจุบันการส่งออกเศษเหล็ก 4 เดือนแรกสูงผิดปกติ พอเศษเหล็กมันเริ่มมีคุณค่า ประเทศอย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ ตอนนี้เอาเศษเหล็กจากเราไปเยอะขึ้น ซึ่งจะเห็นว่ายอดส่งออกเหล็กภาพรวม 4 เดือนปรับตัวดีขึ้น แต่พอมาแกะไส้ในดูจะเห็นว่า ที่ส่งออกเยอะ คือ เศษเหล็ก ซึ่งไม่ดี เพราะต้องเก็บไว้เป็นวัตถุดิบนำมารีไซเคิล ผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า เราควรส่งออกเหล็กที่เราผลิตสำเร็จรูปขั้นกลางและขั้นปลายมากกว่า”

สำหรับการขับเคลื่อนประเด็นนี้เสนอไปทางกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาช่วยขอความร่วมมือ แต่เราเสนอว่าถึงจุดหนึ่งเศษเหล็กจะเป็นทรัพยากรที่มีค่าช่วยลดคาร์บอน ส่งเสริมการรีไซเคิล อาจจะต้องมีโควตาหรือบังคับ เช่น จีน มีการกำหนดโควตา ห้ามส่งออกเศษเหล็กออกนอกจีนเลยเด็ดขาด

“ไทยควรกำหนดโควตาส่งออกเศษเหล็ก เป็นแบบปีต่อปี และต้องกำหนดประเภทที่กำหนดโควตาจึงจะเหมาะสมกว่า เพราะทางเราเข้าใจว่าเศษเหล็กบางอย่าง เช่น เศษเหล็กที่ใช้ตัวถังรถยนต์เป็นเศษเหล็กเกรดคุณภาพสูง จะเอามาทำเหล็กเส้นก็ไม่คุ้ม ควรจะเอาขายให้ญี่ปุ่นเข้าเตาหลอมจะดีกว่า”