โรงเหล็กส่งสัญญาณ ปิดกิจการต่อเนื่องปี’67

ราคาเหล็ก

การปิดกิจการของโรงเหล็กกรุงเทพ ที่มีอายุกว่า 60 ปี นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะในวงการต่างรู้กันดีว่าโรงงานได้ลงทุนพัฒนาเตาหลอมกว่า 3,000 ล้านบาท และพยายามปรับตัวมาตลอด แต่มีหลายเรื่องที่สู้ไม่ไหว จนในที่สุดก็ต้องปิดตัวลง

ไม่เพียงเท่านั้นในปี 2566 ยังมีปิดอีกหลายโรง แต่อาจเป็นรายเล็ก-รายกลาง

แน่นอนว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนั้น ปี 2567 จะมีโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดตัวอีก

ตัวแทน 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยต่างก็รู้ว่าสาเหตุปัญหาคืออะไร และหากยังไม่แก้ จะมีเหตุการณ์ที่โรงงานเหล็กไทยปิด เปิดช่องให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาเทกโอเวอร์เพื่อผลิตเหล็กต่อ เป็นที่มาของนักลงทุนจีนที่ซื้อใบอนุญาตต่อแล้วเอาเตาอินดักชั่นเข้ามาใช้

ย้อนกลับไปก่อนนี้ เตาอินดักชั่น (IF) กับเตาอาร์กเฟอร์เนซ (EF) มีมาตรฐาน มอก.เดียวกัน ทำให้เตา IF ยังตั้งได้ในไทย

ซึ่งในปี 2567 จะมีการรีวิว มอก.เหล็กเส้น และ มอก.เหล็กตัวอื่นที่เป็นตัวใหม่ออกมา ด้วยเพราะมีการนำเข้ามามาก จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้

ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กเกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้านการผลิต กระทรวงพาณิชย์ด้านการค้าขายราคา กระทรวงพลังงานเรื่องต้นทุนพลังงาน และกระทรวงการคลังด้านภาษีต่าง ๆ กลุ่มสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเคลื่อนไหว เข้าพบ “นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ คือ

1.ควบคุมการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเหล็ก (มอก.) ให้กับผู้นำเข้ารายใหม่ รวมถึงขอให้ทำ มอก.เหล็กตัวอื่นเพิ่ม 2.สงวนสิทธิเศษเหล็กไว้ใช้ในประเทศไม่ให้ส่งออก โดยเสนอแนวทางอย่างเช่น เก็บภาษีส่งออก ซึ่งจีนเขาเก็บถึง 40%

3.ควบคุมการนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป 4.ขยายเวลาประกาศห้ามตั้งโรงเหล็กเส้นออกไปอีก 5 ปี 5.พิจารณาห้ามตั้งหรือขยายโรงเหล็กแผ่นรีดร้อน 6.เข้มงวดการรายงานการประกอบกิจการโรงงานรายเดือนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตาม รง.8 เช่น การรายงานกำลังการผลิตรายเดือน 7.สนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น กองทุนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ปรับปรุงการผลิตลดใช้พลังงาน ลดคาร์บอนโยงไปถึงการออกมาตรการตอบโต้ CBAM ด้วยการตั้งกำแพงภาษีเหล็กที่นำเข้า

ขณะที่ต้นปี 2568 ประกาศการห้ามตั้ง-ห้ามขยายโรงเหล็กเส้น 5 ปี จะหมดอายุ เอกชนอยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมขยายประกาศดังกล่าวด้วยการต่ออายุทุก ๆ 5 ปี เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตที่ห้ามตั้งโรงเหล็กเส้นแล้ว ทำให้เหล็กเส้นขาดตลาดประกาศจึงยกเลิกไป จากนั้นก็ไม่เคยคุมอีกเลย จึงเสนอให้ทบทวนและพิจารณาออกประกาศห้ามตั้ง-ห้ามขยายโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อน เพราะตอนนี้เห็นสัญญาณที่น่ากังวลในไทย

สำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ที่เคยหารือไว้กับทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ทบทวนกันเมื่อ 6 เดือนก่อน ยังคงข้อเสนอเดิมและอยากให้รัฐทำโรดแมปแผนแม่บทขึ้นมาเพื่อวางทิศทางให้ชัดเจน