ขยะพิษท่วมไทย 20 ปี หลังร่วม “อนุสัญญาบาเซล”

จากกรณีโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมกระทำความผิด พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยตรวจสอบพบโรงงาน 4 แห่งจาก 7 แห่งที่ได้รับอนุญาตกระทำความผิด มีการนำเข้าของเสียเคมีวัตถุ (chemical wastes) ประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี กรุงเทพฯ ประกอบด้วย 1.บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัล กรุ๊ปส์ กำลังการผลิต 60,000 ตัน, 2.บริษัทหย่งถังไทย กำลังการผลิต 30,000 ตัน/ปี, 3.บริษัท โอ.จี.ไอ. กำลังการผลิต 50,000 ตัน/ปี, 4.บริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล กำลังการผลิต 14,000 ตัน/ปี กรมโรงงานฯ ได้สั่งระงับใบอนุญาตจนกว่าจะหมดใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาตมีระยะเวลา 1 ปี

และโรงงานทั้ง 4 แห่งได้ส่งต่อขยะไปยังอีก 4 โรงงานเพื่อกำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีใบอนุญาตกำจัดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น การที่โรงงานดังกล่าวมีซากอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในครอบครอง จึงเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ทำให้ “กระทรวงอุตสาหกรรม” มีมาตรการขั้นเด็ดขาดระงับใบอนุญาตและขึ้นบัญชีดำ(แบล็กลิสต์) โรงงานไม่ให้สามารถนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ได้อีก เป็นระยะเวลานานถึง 10 ปี

แต่การออกมาตรการแบล็กลิสต์เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นทางยังมีการส่งออกขยะอันตรายมายังประเทศไทยปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่า เพียงแค่ช่วงไม่กี่เดือนของปี 2561 ก็มีการนำเข้าขยะประเภทนี้มากถึง 37,000 ตัน สูงมากหากเทียบกับในปี 2560 ทั้งปีที่นำเข้า 53,000 ตัน

20 ปี สัญญานำเข้า-ส่งออกขยะ

ย้อนกลับมาดูข้อตกลงในการดูแลการนำเข้าขยะ ซึ่งเกี่ยวข้องถึง “อนุสัญญาบาเซล” ที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกมา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ร่วมกับอีก 165 ประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายนำเข้า ส่งออก การนำผ่าน ข้ามแดน พร้อมทั้งการจัดการของเสียอันตรายและการกำจัด ให้มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย

Advertisment

สาระสำคัญ 7 ข้อในบาเซล

ผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซล ประกอบด้วย 1.สามารถป้องกันปัญหาการลักลอบนำของเสียมาทิ้งในกลุ่มประเทศสมาชิก 2.ทำให้ทราบการนำเข้า นำผ่าน และส่งออกของเสียอันตรายล่วงหน้า 3.มีมาตรการและระเบียบปฏิบัติในการควบคุม รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์สถานที่กำจัดของเสียอันตรายภายในประเทศ 4.ได้สิทธิส่งออกของเสียอันตรายไปกำจัดในประเทศภาคีซึ่งมีเทคโนโลยีที่มีความสามารถกำจัดเหมาะสม 5.ค้าขายกันเพื่อการอุตสาหกรรมที่ใช้ของเสียอันตรายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต 6.ได้รับความคุ้มครอง ช่วยเหลือด้านวิชาการ การเงิน จากกองทุนหมุนเวียนหากเกิดอุบัติเหตุขณะขนส่ง เคลื่อนย้าย และกำจัด 7.ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการ เทคโนโลยี จากประเทศภาคีที่พัฒนาแล้ว เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจัดการของเสียอันตรายภายในประเทศ

หลังจากนั้นเมื่อปี 2559 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมอนามัย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 กำหนดให้สินค้าขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมจากชุมชน เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามที่กรมควบคุมมลพิษมีหนังสือร้องขอให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ส่วนสินค้าอีก 4 พิกัด ในกลุ่มอุตสาหกรรมนำเข้าเศษกระดาษ เศษอะลูมิเนียม และเศษเหล็กจากแหล่งต่าง ๆ มีปริมาณการนำเข้าก็เพิ่มขึ้นตามลำดับนับจากปี 2559 (ตาราง) จนสร้างปัญหาให้กับประเทศ

ล้อมคอกขยะพิษ

Advertisment

อย่างไรก็ตาม นายสมชาย หาญหิรัญรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายถึงรูปแบบการกำจัดขยะอุตสาหกรรม ว่า ต้องแยกด้วยกระบวนการที่ถูกต้องเพื่อให้ได้วัตถุที่มีมูลค่า เช่น ทอง ทองแดง เป็นต้น ส่วนซากที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ประมาณ 10% ที่ผ่านกระบวนการกำจัดแล้วจะต้องนำไปฝังกลบในบ่อที่ได้มาตรฐานได้ใบอนุญาต หรือกำจัดด้วยการเผาในเตาเผาขยะเท่านั้น

มาตรการป้องกันหลังจากนี้ ต้นทาง “กรมศุลกากร” จะเพิ่มมาตรการตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ทุกตู้ จากเดิมใช้วิธีสุ่ม เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าเอกสารการสำแดงนำเข้าซากอะไรนั้นตรงกับของที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หรือไม่

ขณะที่ปลายทาง “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ในฐานะผู้มีอำนาจกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด จะเร่งดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่มีการประกอบกิจการถอดแยกและบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งขึ้นทะเบียนจำนวน 148 โรงงาน ให้แล้วเสร็จภายวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ขณะที่โรงงานประเภท 101 105 และ 106 ซึ่งเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีจำนวน 2,265 โรง ต้องตรวจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้

หากพบการกระทำผิด พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ตามมาตรา 23 มีซากอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานจะมีโทษตาม มาตรา 73 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ