“ศิริ” นำร่องศึกษาแบตเตอรี่ลิเธียม ต้นปี”62 เข้าสู่เชิงพาณิชย์

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตพลังงานไทย” ที่โรงแรมดุสิตธานี ว่ายอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยประมาณ 76% ทางกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยให้ทุกภาคส่วนได้ใช้พลังงานจากระบบที่ทันสมัยมั่นคงและยั่งยืนในราคาที่ไม่แพง โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพได้

นอกจากนี้ กองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานยังเตรียมให้การสนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่า 150-200 ล้านบาท สำหรับโครงการนำร่องศึกษาวิจัยผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ที่สามารถประจุไฟฟ้าได้มากกว่าปกติเป็น 3 เท่า ภายในหน่วยวิจัยและพัฒนา สถาบันวิทยสิริเมธี
ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ที่ตั้งอยูในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EECi)

“คาดผลการศึกษาจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ และสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ช่วงประมาณต้นปี 2562 โดยเบื้องต้นจะเริ่มใช้งานในรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (อี ตุ๊กตุ๊ก) โทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น”

นายศิริ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วง 2 เดือนนี้ ซึ่งจะมีรูปแบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีความคล่องตัวและมีขีดความสามารถในการแข่งขันผลิตด้วยต้นทุนต่ำมีโอกาสเข้ามาผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่หลากหลายขึ้น

“รูปแบบพีดีพีใหม่จะมีความยืดหยุ่นขึ้น ใครที่มีเทคโนโลยีที่ดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ (สตาร์ทอัพ) หรือเอสเอ็มอีที่มีการนำระบบใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ให้มีคล่องตัวมากขึ้น และที่สำคัญต้องสามารถเสนอราคาให้ประชาชนได้ถูกลง รัฐก็จะรับพิจารณาทันที”นายศิริ กล่าว

Advertisment

สำหรับความคืบหน้าแผนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) นั้น คาดจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังคงยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติมในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ ยกเว้นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เข้ามาผลิตในต้นทุนถูกกว่าปัจจุบันที่รัฐรับซื้อในอัตรา 2.40 บาทต่อหน่วย