“ศิริ” ดัน B20 ใช้ถาวร-สิงห์รถบรรทุกผวาค่าใช้จ่ายพุ่ง

“ศิริ” ยืดส่งเสริมดีเซล B20 ถาวร การันตีช่วยเกษตรกร-ตึงต้นทุนค่าขนส่งรับมือน้ำมันดิบแตะ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลล่าสุด กบง.ประกาศชดเชย B20 ลิตรละ 3.51 บาท เอกชนติง B20 อุ้มเกษตรกรผลักภาระขนส่ง

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงจะขยายโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 เป็นโครงการถาวร เพื่อดูดซับผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินจากภาคการบริโภค ซึ่งเหลืออยู่เฉลี่ยปีละ 660,000 ตันต่อปี เพื่อนำมาผลิตเป็น B20 ได้ 15 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับขยายโครงการถาวรไม่จำเป็นต้องส่งเสริมดีมานด์การใช้เพิ่มขึ้น เพราะอาจกระทบน้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภค ทำให้มีราคาสูงขึ้น โดยโครงการนี้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมัน B20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 3 บาทต่อลิตร โดยกระทรวงการคลังจะลดภาษีสรรพสามิต 75 สตางค์ต่อลิตรและใช้เงินกองทุนน้ำมันฯมาช่วยส่วนที่เหลือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะมีกลไกในการชดเชยอย่างไร

“การส่งเสริมการใช้บี 20 ไม่เพียงช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มที่ประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำเหลือ กก.ละ 3.00 บาท แต่ยังช่วยลดค่าครองชีพในส่วนของการขนส่งและบริการสาธารณะ เป็นหลักประกันว่าแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะถึง 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต้นทุนค่าขนส่งก็จะไม่เพิ่มขึ้น”

โดยผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เข้าร่วม5 ราย ได้แก่ ปตท. บางจาก ไออาร์พีซี ซัสโก้ และซัสโก้ดีลเลอร์ ซึ่งจะจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ fleet รถบรรทุก 24 ราย มีจำนวนรถ 636 คัน และเรือด่วนอีก 1 ราย ในพื้นที่ 13 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุบลราชธานี ชลบุรี เป็นต้น

“ทางกระทรวงให้ ปตท.ศึกษาใช้ B20 มาเป็น 10 ปี ใช้ได้ไม่แตกต่างกับดีเซลปกติ แต่ไม่ควรใช้กับรถยนต์ขนาดเล็ก แต่ผู้ใช้อาจต้องปรับระบบ/เปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันหล่อลื่นบ่อยครั้งก็ไม่กระทบต้นทุนมากนักเทียบกับราคาน้ำมันถูกลง และยังช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวังการแอบอ้างนำน้ำมัน B20 ไปปลอมจำหน่ายในตลาดปกติ โดยต้องสังเกตว่า B20 สีแดง

รายงานข่าวระบุว่า เบื้องต้นกระทรวงการคลัง ลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 0.828 บาท และจ่ายชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯลิตรละ 2.172 บาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดภาระผู้ประกอบการ 16,000 ล้านบาทต่อปี ล่าสุดทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศเมื่อวันที่ 1 ก.ค.กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนและอัตราชดเชยสำหรับ B20 อยู่ที่ลิตรละ 3.51 บาท

ขณะที่รายงานผลการศึกษาสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ปี 2557 โดยการทดสอบภาคสนาม เครื่องยนต์ดีเซล ยูโร 3 คอมมอนเรล หรือยูนิตอินเจ็กเตอร์ชี้ว่าควรอนุญาตให้ใช้เฉพาะ fleet รถบรรทุกที่ขึ้นทะเบียนกระทรวงพลังงาน และลดราคาน้ำมันจูงใจ

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยกล่าวว่า รถยนต์เครื่องยนต์เก่ากว่าปี 2000 สามารถใช้ B20 ได้ แต่รถยนต์บรรทุกที่เป็นเครื่องยนต์คอมมอนเรลจะไม่สามารถใช้น้ำมันดีเซล B20 ได้เลย เพราะจะมีผลต่อต้นทุนการบำรุงรักษาในอนาคตที่เกิดจากไขมันปาล์มไปอุดตันหัวฉีด และค่าความบริสุทธิของน้ำมันที่ให้ค่าความร้อนไม่เท่ากับน้ำมันดีเซลปกติ ไม่นับรวมต้นทุนการติดตั้งถังและหัวจ่ายซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น การพิจารณาใช้น้ำมัน B20 หรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละราย ซึ่งรายใหญ่ที่มีรถจำนวนมากอาจจะคุ้มค่าในการดำเนินการมากกว่ารายย่อย