กระทรวงใหม่วิจัย-นวัตกรรม เคลื่อนเศรษฐกิจ New S-curve

เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม ประกอบกับ “วาระปฏิรูป” ที่ถูกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ชูธงเป็น “วาระแห่งชาติ” จึงมีแนวคิดการจัดตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 มีมติรับหลักการเพื่อยกเครื่องระบบการศึกษา-การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม สู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”

ตอบโจทย์ 10 S-curve เท่าทันโลก

โดยมีหลักการและความจำเป็นต้องแยกการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้สถาบันศึกษาปรับตัวอย่างก้าวกระโดด ผลิตกำลังคนตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมขั้นสูงเพื่อตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือการเตรียมความพร้อมประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการพัฒนาคน เปลี่ยนกระบวนทัศน์และโมเดลการขับเคลื่อนประเทศ (game changing)

หน้าที่และอำนาจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม คือ การส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความเป็นอิสระในทางวิชาการ วางแผน ส่งเสริม สนับสนุน ดำเนินการวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

“บิ๊กตู่” ประธาน “ซูเปอร์บอร์ด”

โดยมีกลไกการกำกับดูแลและการบริหารงาน ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการระดับชาติ (super board) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดนโยบาย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

2.คณะกรรมการระดับกระทรวง แบ่งออกเป็นคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนนโยบายของคณะกรรมการระดับชาติไปสู่การปฏิบัติ

ดำเนินภารกิจ 2 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มภารกิจที่ 1 กลุ่มนโยบายและจัดสรรทุน เสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ วางแผนอนาคต ทำแผนแม่บทอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย นวัตกรรมและการพัฒนากำลังคน จัดทำแผนการลงทุนและจัดสรรทุนวิจัย

ผลิตบัณฑิต-สร้างศักยภาพผู้ประกอบการ

กลุ่มภารกิจที่ 2 กลุ่มปฏิบัติการ แบ่งออกเป็นด้านการอุดมศึกษา บทบาทหลัก การผลิตบัณฑิตศึกษาหรือสูงกว่า และบุคลากรวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ศตวรรษที่ 21ทำการวิจัยในระดับต่าง ๆ อาทิ การวิจัยพื้นฐาน รวมทั้งดำเนินงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาสังคม

ตั้ง สนง.วิจัยสังคม-มนุษยศาสตร์

สำหรับโครงสร้างกระทรวง ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (เปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน ภายใน 3 ปี) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (โอนไปสังกัดกระทรวงอื่นที่เหมาะสม ภายใน 3 ปี) และสำนักงานส่งเสริมการวิจัยสังคมและมนุษยศาสตร์ (ส่วนราชการจัดตั้งใหม่ ก่อนเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน ภายใน 3 ปี)

โดยจะมีการปรับปรุงหน้าที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้เป็นองค์กรจัดสรรเงินทุนด้านอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมปรับบทบาทภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ให้ทำหน้าที่เป็นคลังสมอง (think tank) ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมขององค์การมหาชนที่เกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรมในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ภายใน 3 ปี

ควบรวมมหาวิทยาลัย 157-สถาบันวิจัย 13 แห่ง

ทั้งนี้ จะมีการปรับรวมหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเข้ามารวมอยู่ในสังกัดกระทรวง ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษา 157 แห่ง แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 10 แห่ง มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 26 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 73 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง วิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง และองค์การมหาชน 11 แห่ง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เป็นต้น

นอกจากนี้ มีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

ไทม์ไลน์กระทรวงใหม่

แผนการดำเนินการจัดตั้งกระทรวง แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เสนอร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเดือนพฤศจิกายน 2561

ระยะที่ 2 วางระบบ พัฒนากระบวนงานและจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและอัตรากำลัง ภายในเดือนมกราคม 2562 โดยจะเห็นเป็นรูปธรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระยะที่ 3 ปรับโครงสร้างส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี

Early retirement รับองค์การมหาชน

คณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานควรมีองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิเท่าที่จำเป็น และควรให้มีกรรมการเต็มเวลา การบริหารจัดการส่วนราชการที่อาจแปรสภาพเป็นองค์การมหาชนในอนาคต อาจมีเหตุผลสำคัญที่จะต้องรอเวลาให้ข้าราชการบางส่วนทยอยเกษียณอายุ ดังนั้น ควรนำระบบการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (early retirement) มาใช้