เปิดปมรัฐซื้อไฟกัมพูชาแพง ซ่อนต้นทุนค่าน้ำผันเข้าEEC

เปิด MOU กพช.อนุมัติซื้อไฟฟ้าเขื่อนพลังน้ำสตึงมนัม พบค่าไฟแพงมหาโหดหน่วยละ 10.75 บาท เทียบค่าไฟฐานแค่ 2.60 บาท ชำแหละต้นทุนแอบบวก “ค่าน้ำ” เข้าไปในค่าไฟ อ้างเหตุกัมพูชาผันน้ำให้ EEC ใช้ฟรี

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมได้กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบ ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสตึงมนัม (Tariff MOU) ซึ่งจะลงนามระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับบริษัท Steung Meteuk Hydropower หรือ SMH ที่รัฐบาลกัมพูชาให้สิทธิบริษัทนี้เป็นผู้พัฒนาโครงการเขื่อนพลังน้ำ โดยคิดราคาขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. “แพง” อย่างมโหฬารถึงหน่วยละ 10.75 บาท

เปิดร่าง MOU สตึงมนัม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมาได้เห็นชอบร่าง MOU โครงการสตึงมนัมหรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสตึงมนัม และให้เสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบด้วย โดยใน MOU มีสาระสำคัญประกอบไปด้วย 1) กฟผ.จะขอความเห็นชอบ MOU โครงการนี้จาก กพช. ส่วน SMH จะขอความเห็นชอบจากรัฐบาลกัมพูชาภายในเวลา 3 เดือน MOU มีผลบังคับใช้หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้รับความเห็นชอบแล้ว

2) MOU จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ที่บังคับใช้จนถึงก่อนการบังคับใช้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) ส่วนการยกเลิก MOU ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษร 3) ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันศึกษาการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ซึ่งตัวโรงไฟฟ้าและเขื่อนจะตั้งอยู่ที่ฝั่งกัมพูชา การศึกษาจะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การรับซื้อไฟฟ้า และการเชื่อมโยงระบบส่งให้สอดคล้องกับ Grid Code กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) และที่สำคัญให้ทั้ง 2 ฝ่าย “เปิดการเจรจา” ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนานไปกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

Advertisment

4) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับ SMH จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วัน Execution Date โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุ 50 ปีนับจากวันที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แต่อาจมีการต่ออายุสัญญา PPA ออกไปได้หากทั้ง 2 ฝ่ายให้ความเห็นชอบ โดยโครงการนี้จะขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ประมาณ 24 เมกะวัตต์ (MW) และส่ง “น้ำ” ที่ใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทยในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมเฉลี่ยปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 หรืออีก 6 ปีนับจากนี้

อย่างไรก็ตาม กฟผ.มีเงื่อนไขว่า ร่างสัญญารับซื้อไฟฟ้า PPA นั้น กฟผ.จะเป็นผู้ร่างและน้ำจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม.ที่โครงการจะส่งให้กับประเทศไทยนั้น ฝ่ายกัมพูชาจะ “ไม่มีการคิดค่าน้ำ” เนื่องจากโครงการสตึงมนัมเป็นโครงการความร่วมมือด้านพลังงานและการบริหารจัดการน้ำร่วมกันภายใต้ Asia Cooperatio Dialogue Summit (เดือนตุลาคมปี 2559)

5) แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ การเจรจา และการบังคับใช้ MOU 6) หากเกิดข้อพิพาทในโครงการจะมีการเจรจาและหารือกัน และ 7) ข้อตกลงใน MOU ฉบับนี้ห้ามทำการโอนสิทธิ์ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และ MOU จะต้องไม่กระทบหรือจำกัดสิทธิ์ กฟผ.ที่จะเจรจากับผู้พัฒนาโครงการรายอื่น ๆ

ต่อท่อน้ำเข้า EEC/SEZ

Advertisment

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กล่าวถึง น้ำจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม.ที่ประเทศไทยจะได้รับว่า น้ำจำนวนดังกล่าวนี้จะถูกผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัมที่ปล่อยน้ำลงมาจากสันเขาเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าแล้วต่อท่อมาที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยองเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone หรือ SEZ)

โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพหลักในการผันน้ำ ไม่ใช่ “กรมชลประทาน” ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการเขื่อนประแสร์ แต่ให้กรมชลประทานไปศึกษาแนวเส้นทางการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำมาใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออก และให้เป็นผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แทน

ซ่อนต้นทุนค่าน้ำ

แหล่งข่าวในวงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมว่า ดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะ “เชื่อมโยง” ระหว่างอัตราค่าไฟฟ้าในโครงการที่จะขายให้ กฟผ.แพงมหาศาลถึงหน่วยละ 10.75 บาท เพื่อ “แลก” กับการได้รับน้ำจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม. (หรือเท่ากับความจุของอ่างเก็บน้ำประแสร์ (ขนาดความจุสูงสุด 322 ล้าน ลบ.ม.) ด้วยการเน้นย้ำไว้ว่า น้ำจำนวนนี้ฝ่ายไทยได้รับมาฟรี ๆ โดยโครงการไม่สามารถจะคิดค่าน้ำได้นั้น

ความจริงแล้วถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า ค่าน้ำที่อ้างว่า “ฝ่ายไทยได้รับมาฟรี ๆ” นั้น แท้จริงแล้ว “มันไม่ได้ฟรี” เพราะ ค่าน้ำได้ถูกบวกเข้าไปไว้ในค่าไฟฟ้าที่แพงถึง 10.75 บาทต่อหน่วยไปเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ อัตราค่าไฟฟ้าของ กฟผ.เฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 2.60 บาทต่อหน่วย (kWh) หรือน้ำ 3 คิวจะผลิตไฟฟ้าได้ 1 หน่วย ในกรณีของโครงการสตึงมนัม น้ำ 3 คิวจะถูกคิดราคาที่ 7.80 บาท/หน่วย (ค่าน้ำดิบ 2.60 X บาท/หน่วย (ลบ.ม.) ดังนั้นราคาขายไฟฟ้าในโครงการให้กับ กฟผ. แพงถึง 10.75 บาท/หน่วยนั้นเอง

“เห็นได้ชัดว่า น้ำไม่ได้มาฟรี ๆ แน่ ๆ แต่ถูกบวกเข้าไปในค่าไฟฟ้าแล้ว ผมก็ไม่เข้าใจว่า กรรมการท่านอื่น ๆ ใน กพช.ไม่รู้หรือว่า ค่าน้ำที่อ้างว่าให้ฝ่ายไทยฟรี ๆ นั้น มันไม่ฟรี ตรงนี้ถือเป็นการหมกเม็ดได้หรือไม่ เพราะดูจากการแถลงข่าวหลังการประชุม กพช.ก็ไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องนี้ ที่สำคัญโครงการสตึงมนัมมันได้ไฟฟ้าแค่ 24 MW ผมได้ยินมาว่า กฟผ.จะรับซื้อไฟแค่ปีละ 100 หน่วยเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ไฟจำนวน 24 MW ไม่ได้ช่วยเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคตะวันออกเลย เพราะมันน้อยมาก แถมกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคนี้ก็หนาแน่นอยู่แล้ว ด้านความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกปัจจุบันมี 5 อ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 1,600 ล้าน ลบ.ม. ถือว่า พอเพียงต่อความต้องการอย่างน้อยอีก 5 ปีข้างหน้า” แหล่งข่าวกล่าว

ดังนั้นถ้า EEC/SEZ ต้องการได้น้ำมาเสริมความต้องการใช้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ “สูตรซื้อไฟแพงแลกน้ำ” ทำไมประเทศไทยไม่เจรจาขอซื้อน้ำโดยตรงกับกัมพูชาแล้วผันน้ำเข้ามาเลย อย่าลืมว่าตอนนี้บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (East Water) คิดต้นทุนน้ำดิบอยู่ที่เฉลี่ย 50 สตางค์/หน่วยเท่านั้น