การพัฒนาที่ยั่งยืน : จะขับเคลื่อนอย่างไรให้เป็นจริง (1)

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย จิราภรณ์ แผลงประพันธ์, ชาคร เลิศนิทัศน์ TDRI

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(sustainable development goals : SDGs) ถือเป็นวาระแห่งการพัฒนาของโลก และถูกกำหนดให้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว แต่หนทางในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวยังมีความคลุมเครืออยู่พอสมควร แม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะได้จัดทำตัวชี้วัดที่สะท้อน “วิธีปฏิบัติงาน” หรือที่เรียกว่า means of implementation เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยก็ตาม แต่ตัวชี้วัดลักษณะนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และอาจจะยังไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs แล้ว ยังมีอีกแนวคิดที่คู่ขนานและได้ถูกกำหนดไว้ใน Agenda 2030 เช่นเดียวกับ SDGs คือ กรอบการระดมทุนเพื่อการพัฒนา หรือ financing for develop-ment (FfD) ซึ่งมีขอบเขตความคิดที่กว้างและมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทของประเทศเป้าหมายมากกว่า SDGs ตัวอย่างของกรอบแนวคิด FfD เช่น การเพิ่มบทบาทการจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศกำลังพัฒนา แทนการรอรับความช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นที่ผ่านมา พร้อมทั้งกำหนดความรับผิดชอบต่อประเทศที่มีการพัฒนาอยู่ในระดับเดียวกันให้เกิดความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น (south-south cooperation) นอกจากนี้ กรอบการระดมทุนดังกล่าวยังเน้นให้มีการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ให้มีส่วนในการสนับสนุนนโยบายการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสม เป็นต้น