ลุ้น “58ไม้ยืนต้น” ขอหลักประกัน พาณิชย์ขยายสิทธิ์เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้

พาณิชย์คลอดกฎกระทรวงเปิดช่อง 58 ไม้ยืนต้น ขอหลักประกันธุรกิจได้ ก.ย.นี้ ส่วน “มะพร้าว-ยูคาลิปตัส-ไม้ยางพารา” ลุ้นรอบหน้า ด้าน ส.นักประเมินราคาอิสระไทย พร้อมรับประเมินราคา ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ห่วงแบงก์ไม่ปล่อยกู้ แนะแบงก์รัฐก่อน

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. …. โดยสามารถนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจยื่นขอหลักประกันธุรกิจได้นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียดของกฎกระทรวง คาดว่าจะเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งให้กระทรวงพาณิชย์นำไปประกาศใช้ภายในเดือนก.ย.

สำหรับไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาเป็นใช้เป็นหลักประกันธุรกิจได้ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีทั้งหมด 58 ชนิด คือ ไม้สัก, พะยูง, ชิงชัน, กระซิก, กระพี้ควาย, สาธร, แดง, ประดู่ป่า, ประดู่บ้าน, มะค่าโมง, มะค่าแต้, เคี่ยม, เคี่ยมคะนอง, เต็ง, รัง, พะยอม, ตะเคียนทอง, ตะเคียนหิน, ตะเคียนชันตาแมว, ไม้สกุลยาง, สะเดา, สะเดาเทียม, ตะกู, ยมหิน, ยมหอม, นางพญาเสือโคร่ง, นนทรี, สัตบรรณ, ตีนเป็ดทะเล, พฤกษ์, ปีบ, ตะแบกนา, เสลา, อินทนิลน้ำ, ตะแบกเลือด, นากบุด, ไม้สกุลจำปี, แคนา, กัลปพฤกษ์, ราชพฤกษ์, สุพรรณิการ์, เหลืองปรีดียาธร, มะหาด, มะขามป้อม, หว้า, จามจุรี, พลับพลา, กันเกรา, กะทังใบใหญ่, หลุมพอ, กฤษณา, ไม้หอม, เทพทาโร, ฝาง, ไผ่สุกชนิด, ไม้สกุลมะม่วง, ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม้ยืนต้นดังกล่าวไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อได้ แต่สถาบันการเงินยังสามารถรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยเงื่อนไขการรับหลักประกันจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด ซึ่งก็จะต่างกันออกไป

ทั้งนี้ การขยายประเภทหลักประกันเพื่อให้กับไม้ยืนต้น ไม่เพียงจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงในที่ดินของตนเอง เพื่อเป็นการออม และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปลูกป่าด้วย โดยขณะนี้กรมได้จัดรับฟังความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงิน 9 หน่วยงาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีไม้ยืนต้นบางชนิดที่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักประกันธุรกิจได้ เช่น มะพร้าว ไม้ยางพารา ยูคาลิปตัส อินทผลัม และไม้ที่ไม่สามารถแปรรูปนำมาก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้

เนื่องจากใช้ประโยชน์จากเนื้อได้น้อย เมื่อครบอายุไม่เกิน 10 ปี เนื้อไม้ก็เสื่อมสภาพเป็นโพรงใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทางกรมป่าไม้ จึงอยู่ระหว่างเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 เพื่อให้สามารถตัดต้นไม้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้เศรษฐกิจมากขึ้น หากจะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากไม้ยืนต้น

ขณะนี้ผู้ให้ความสนใจยื่นขอหลักประกัน เช่น กลุ่มธนาคารต้นไม้ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีสมาชิก 180 คน ธนาคารต้นไม้บ้านดงป่าสัก จ.น่าน สมาชิก 80 คน สมาชิกสหกรณ์สวนป่า 5 จังหวัด ได้แก่ ตราด กระบี่ แพร่ ราชบุรี และขอนแก่น เป็นต้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ประกาศใช้ 4 กรกฎาคม 2559-10 กันยายน 2561 มีขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 240,528 คำขอ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 5,014,626 ล้านบาท เช่น บัญชีเงินฝากธนาคาร มากที่สุดสัดส่วน 51.24% มูลค่า 2,569,628 ล้านบาท สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาต่างๆ สัดส่วน 26.55% มูลค่า 1,331,178 ล้านบาท สังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 22.17% มูลค่า 1,111,651 ล้านบาท ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็น 0.04% มูลค่า 1,975 ล้านบาท กิจการ คิดเป็น 0.004% มูลค่า 194 ล้านบาท และอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 0.00001% มูลค่า 0.34 ล้านบาท

ด้านนายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย กล่าวว่า การขยายหลักประกันธุรกิจให้สามารถนำต้นไม้ 58 ชนิดเข้ามาขอหลักประกันได้จะช่วยขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้เศรษฐกิจ สามารถประเมินมูลค่าได้ทั้งสิ้น แต่กังวลว่าสถาบันการเงินจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้หรือไม่ เพราะมองว่ายังมีความเสี่ยง ด้วยต้นไม้นั้นตามกฎหมายหลักประกันไม่ได้กำหนดให้มีการจดจำนอง หรือประกันความเสี่ยงไว้ เมื่อเกิดความเสียหาย สูญหาย หรือต้นไม้นั้นปลูกในที่ดินที่มีจำนอง ก็จะทำให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยกู้ยากมากขึ้น และเมื่อปล่อยกู้ไปแล้ว หากเกิดปัญหาต้นไม้หาย ผู้เอาหลักประกันไม่ดำเนินการตามกำหนด สถาบันการเงินก็อาจเรียกร้องความเสียหายได้ลำบาก ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐหาเครื่องมือที่เหมาะสมในการเข้ามาดูแล และให้แบงก์รัฐเข้ามาสนับสนุนก่อนเพื่อเป็นแนวทางให้แบงก์เอกชนพิจารณาต่อไป