“อุตตม” ยกเลิกต่ออายุใบ รง.4 ใช้ Third Party ให้ผู้ประกอบการโรงงานรับรองตนเอง

“อุตตม” ปรับแก้ พ.ร.บ.โรงงาน (2535) ยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโรงงาน (รง.4) จากเดิมต่อทุกๆ 5 ปี ใช้ Third Party ให้เอกชนรับรองตนเอง พร้อมยกเลิกค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตที่เก็บระหว่าง 1,500-60,000 บาท แม้ทำรัฐเสียรายได้ 10 ล้านบาท/ปี แต่เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ คาดประกาศใช้ต้นปี 2562 รอกฎหมายผ่าน สนช.

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน อำนวยความสะดวก ลดภาระความยุ่งยากสำหรับผู้ประกอบการ จึงปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน (พ.ศ.2535) เพื่อ ยกเลิกการขอต่ออายุใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมใบอนุญาตต้องต่ออายุทุกๆ 5 ปี ปัจจุบันมีจำนวนที่ขอต่อใบอนุญาตอยู่ประมาณ 60,000 โรงงาน

การยกเลิกค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาต จะทำให้ กรอ. มีรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันจะคิดอัตราอยู่ที่กำลังการผลิต น้อยกว่า 50 แรงม้า อยู่ที่ 1,500 บาท กำลัง 50-100 แรงม้า อยู่ที่ 3,000 บาท กำลัง 100 แรงม้า 5,000 บาท สูงสุด 60,000 บาท โดยจะใช้วิธีการโรงงานจัดส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รับรองตนเอง และส่งเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นทะเบียนกับ กรอ. แล้ว หรือ Third Party เข้าไปตรวจสอบ คาดจะเริ่มประกาศใช้หลังแก้กฎหมายเสร็จประมาณต้นปี 2562

“จะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่ว ประเทศ60,000รายที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตรง.4ในช่วงปี2562-66 สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง โดยไม่ติดขัด และเอื้อให้นักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนยังไทยเพิ่มขึ้น”

จากแนวทางดังกล่าวกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)จะเปลี่ยนหลักการเป็นให้ผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเองหรือ Self-declared ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่าการประกอบกิจการได้มีการดำเนินการถูกต้องตามกฏหมายโดยกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมกำกับดูแลทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมและจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม(Third Party)ไปทำการตรวจภายหลังและเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จซึ่งทำให้แม้ว่าจะไม่ต้องขอต่ออายุใบรง.4แต่ก็ยังคงกำกับดูแลเพื่อให้โรงงานมีความปลอดภัยได้มาตรฐาน

Advertisment

ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลชัดเจนแบบ 2เพิ่ม 2ลด คือ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และลดปัญหาข้อร้องเรียนความโปร่งใส ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนมายังไทยเพิ่มขึ้น