“อุตตม” ดัน ชา กาแฟภาคเหนือส่งออก หวังอุตฯเกษตรไทยได้มาตรฐานตลาดโลก

กระทรวงอุตสาหกรรม รับข้อเสนอเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 หลังถกของบ 866 ล้านบาท พัฒนาส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรสู่มาตรฐานสากล พร้อมหนุนโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา แพร่) ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 8/2561 ณ จังหวัดเชียงราย

นายอุตตมกล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีศักยภาพในด้านการเกษตรและผลิตภัณพ์อุตสาหกรรมเกษตร โดยปัจจุบันมีการแปรรูปพืช ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ วัตถุดิบสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ข้าว ชา กาแฟ สัปปะรด และสมุนไพร ดังนั้น ภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือ จึงเห็นควรพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงรายได้ให้เกษตรกร จึงขอรับการสนับสนุนโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ด้วยนวัตกรรมสู่ SME 4.0 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (Food and Agro-Industry SMEs Innovative Driven Project for the Upper Northern Thailand 2)

เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในพื้นที่ให้มีขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจเชื่อมโยงสู่สากล ยกระดับกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม และเป็นการยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม S-Curve ให้มีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
โดยโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมประกอบด้วย 1) การพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเชื่อมโยง Digital เพื่อสร้าง Food Startup 4.0 2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงบูรณาการ เพื่อบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ (Food Supply Chain Big Data) 3) การพัฒนาเครือข่าย Northern Innovation Food Cluster เพื่อเป็น Mega Cluster ผนวกกับการสร้างเครือข่ายเฉพาะทางเพื่อพัฒนานวัตกรรมในเชิงลึก 4) สร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) มุ่งเน้นการผลิตอาหารเพื่ออนาคต และเชื่อมโยงไปสู่ฐานการผลิต OEM มาตรฐานสากลของภูมิภาค (ณ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ)

5) ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิต (Food Safety Standard) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของกลุ่มจังหวัดเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในระดับสากล 6) เชื่อมโยงนำงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการผลิตอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Food Production & Packaging) โดยเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) และ 7) เชื่อมโยงการตลาดและธุรกิจออนไลน์ (Business Matching & Online Marketing) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ เป้าหมายของโครงการฯ จะเกิดผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในพื้นที่ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ภาคเอกชนในพื้นที่ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในประเด็น คือ 1) การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปมูลค่าสูงสินค้าเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยภาคเหนือตอบบน 2 โดยขอรับการสนับสนุนในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยเพื่อการแปรรูปในพื้นที่ การจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อแปรรูปสินค้าอินทรีย์ การจัดหาครุภัณฑ์และยกระดับมาตรฐานสินค้า รวมถึงการส่งเสริมช่องทางการตลาด

2) การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมไผ่ครบวงจร (Bamboo City) เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมไผ่ภาคเหนือ เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาเป็นนวัตกรรม และแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมไผ่สู่ตลาดภายในและต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยฯ จะดำเนินการพัฒนาพันธุ์ไผ่ เครื่องจักรแปรรูปไม้ไผ่ เช่น เครื่องตอกตะเกียบ เครื่องอัดไป่ เปิดไม้ท่อนและไม้ลิ้น เครื่องอัดเชื้อเพลิงการส่งเสริมการปลูกไม้ไผ่ และผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากไผ่เชื่อมโยงตลาด โดยจะขอรับการสนับสนุนด้านการเงินให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการแปรรูปไม้ไผ่

3) เชียงรายเมืองสมุนไพรครบวงจร มีแนวทางการพัฒนาด้านสมุนไพรและเกษตรแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีหนุนเสริมพัฒนาการปลูกและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร เกษตรอินทรีย์ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ทั้งผลักดันให้เกิดการตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุนชมด้านสมุนไพรที่เข้มแข็ง โดยจะขอรับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจสมุนไพร การวิจัยพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภณฑ์สมันไพร การส่งเสริมการตลาดสมุนไพรทั้งในไทยและต่างประเทศ วงเงิน 50 ล้านบาท 4) แฟชั่นล้านนาตะวันออก จะขอรับการสนับสนุนการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอและเครื่องประดับโดยใช้อัตลักษณ์ล้านนา การยกระดับและพัฒนางานศิลปะหัตถอุตสาหกรรมเชิงกลุ่มด้านเครื่องประดับและผ้าทอ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องประดับให้ได้มาตรฐานการส่งเสริมการตลาด และการฝึกอบรมผู้ประกอบการ วงเงิน 21.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายอุตตม และคณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมนิทรรศการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ที่ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการบริการด้านนวัตกรรม การแปรรูป การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และยกระดับการบริการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสู่การเป็น “ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC)” ในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือ บ่มเพาะ และต่อยอดธุรกิจ SMEs ไทยสู่ธุรกิจยุค 4.0 ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ผลิตระดับชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs

เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในด้านรูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสินค้าอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่งศูนย์ ITC ทั่วประเทศ รวม 87 แห่งมีผู้ประกอบการได้รับการบริการ จำนวน 27,619 ราย

และในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) บ้านสันติคีรี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย (ดอยแม่สลอง) ซึ่งเป็นหมู่บ้าน CIV เพื่อการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต การละเล่น โดยเฉพาะขั้นตอนการผลิต การชิมชา อาหารจีนและอาหารชนเผ่า ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายถึงปัจจุบัน

โดยมีผลิตภัณฑ์เด่น ได้แก่ ชาอู่หลง ชาเจียวกู่หลาน ชาแดง ชามะลิ ชาอัสสัม ฯลฯ ซึ่งบ้านสันติคีรี มีความต้องการพัฒนาด้านเครื่องจักรเพื่อทำชาเป็นรูปแบบเส้น การปรับปรุง packaging เงินทุนหมุนเวียน และการให้คำปรึกษาด้านการแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์