“อุตตม” โวเศรษฐกิจไทยปี 62 ใช้ EEC เชื่อมอาเซียนพากันโตทั้งภูมิภาค เร่งศึกษาพื้นที่ SEC เพิ่มเขตศ.กิจใหม่ภาคใต้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ Thailand’ transformation under the 20 year national agenda ในงานสัมมนา บางกอกโพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟอรั่ม ประจำปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังมั่นใจว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทั้งการเงิน การคลัง ที่มั่นคงแล้วรวมถึงการท่องเที่ยว และไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งซึ่งเป็นที่รับรู้ทั้งคนไทยและต่างชาติที่รัฐบาลจะเดินไปตามโรดแมปที่วางไว้ ประกอบกับการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งหมดจะเป็นแรงส่งเสริมให้ไทยก้าวต่อไปได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและภาพรวมการปฏิรูปประเทศ

“เรื่องความขัดแย้งการค้าขายระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีผลอย่างไรยังคงต้องติดตาม แต่สำคัญคือเรามีภูมิคุ้มกันเข้มแข็งโดยเฉพาะอีอีซีจะมีส่วนในการขับเคลื่อนการลงทุนที่จะลดความผันผวนการค้าโลกได้เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวไม่ได้ระยะสั้น ดังนั้นจึงยังมั่นใจว่าตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกับตัวเลขลงทุนในพื้นที่อีอีซี”

สำหรับความชัดเจนในการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีโดยเฉพาะ 5 โปรเจกต์สำคัญที่จะเห็นการพัฒนาในปี 2562 หลังได้ผู้ชนะประมูล ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก:สนามบินอู่ตะเภา , โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา , โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม รัฐกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่อีอีซี รองรับการลงทุนเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่นำร่อง 3 จังหวัด(ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) ไปยังพื้นที่อื่นเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับภาคอื่น อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้(SEC) เศรษฐกิจชีวภาพที่ภาคเหนือ และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศไม่ได้เฉพาะ 3 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งขณะนี้อีอีซีถือว่าเครื่องติดแล้วแต่ยังต้องดำเนินงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้อีอีซีจะเป็นตัวพลิกโฉมการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย และเศรษฐกิจโลกด้วยเพราะอีอีซีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ของไทยผนวกกับกลุ่มประเทศ CLMVT สู่อาเซียน เอเชียและระดับโลกโดยไทยออกแบบที่ไม่ได้เพียงตอบโจทย์สำหรับไทยเท่านั้น

ซึ่งจะสิ่งที่จะต้องเดินต่อคือ อีอีซียังต้องเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างกันกับภูมิภาค ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล ห่วงโซ่อุตสาหกรรม การแบ่งปันข้อมูลสำคัญ พัฒนานวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ซึ่งคาดการณ์ว่าอีก20ปี อาเซียนจะมีประชากรอาศัยในเขตเมืองถึง 90ล้านคน ทั้งนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพื่อเพิ่มทักษะพลเมืองของอาเซียนให้สามารถแข่งขันได้

“ปี2562 ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยมีพิธีส่งมอบจากประเทศสิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศวิสัยทัศน์ ส่งเสริมความร่วมมืออย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน การใช้เทคโนโลยีปฏิวัติอุตสาหกรรม4.0 และการก้าวสู่ดิจิทัลอาเซียน ซึ่งไทยเองมีไทยแลนด์ 4.0 ที่จะพลิกโฉมให้ไทยเข้มแข็งในทุกมิติ”