แบงค์ชาติห่วงปี62 สงครามการค้าแรงขึ้น แนะเกษตรกรใช้เทคโนโลยีใหม่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2561 เรื่อง “พลิกโฉมเศรษฐกิจใต้ สู่ยุคดิจิทัล” และกล่าวปาฐกถาเรื่อง “เศรษฐกิจไทยกับโอกาสและความท้าทายของธุรกิจ SMEs ในโลกดิจิตัล”

โดยนายวิรไท กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังขยายตัวใช้ได้ เห็นได้จากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน แต่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งอาจมีแนวโน้มมากขึ้น หรือปัญหาภูมิศาสตร์โลก เช่น ปัญหาในอิหร่าน รัสเซีย ตุรกี ซาอุดิอาราเบีย หรือการเมืองในยุโรป และ ยังมีความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่ค่อนข้างสูง จากการสะสมความเปราะบาง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเป็นระยะเวลานาน จึงเกิดปัญหาการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ภัยธรรมชาติ โลกร้อน โรคพืช

นายวิรไท กล่าวอีกว่า สำหรับเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาการส่งออกลดลงจากการที่ผู้ซื้อของไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ แต่ขณะนี้คาดว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นบวก แต่ต้องติดตามผลกระทบจากสงครามทางการค้า ที่สินค้าบางรายการของไทยอยู่ในบัญชีห้ามนำเข้า หรือ ขึ้นกำแพงภาษี ที่ชัดมาก คือ โซล่าเซลล์ และ เครื่องซักผ้า และวัตถุดิบบางรายการที่ไทยส่งไปให้จีนก็ได้รับผลกระทบแต่ไม่มาก ในปี 2562 จะเห็นผลแรงขึ้น เพราะขณะนี้มีการซื้อขายล่วงหน้าไปแล้วจำนวนมาก แต่ก็มีด้านบวกที่สินค้าบางตัวของไทยที่ไม่เคยแข่งกับจีนได้เลยในตลาดสหรัฐอเมริกา ตอนนี้มียอดขายสูงขึ้น อีกทั้ง ผู้ประกอบการจีนเริ่มกระจายความเสี่ยงในการตั้งโรงงานเพิ่มในภูมิภาคอาเซียน

“สำหรับสินค้าเกษตรของภาคใต้ ที่ราคายังอยู่ในระดับต่ำอยู่ ปัญหาเกิดจากเรากำหนดราคาเองไม่ได้ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนสูง ต้องแก้ที่โครงสร้าง ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกษตรสมัยใหม่เป็นภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูง เราติดภาพว่าเกษตรใช้เทคโนโลยีต่ำ หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเวียดนามและลาวได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนต่ำ เกษตรกรอินเดียใช้มือถือดูข้อมูล วางแผนการผลิต การขาย บริหารสต๊อก ลดช่องโหว่ต้นทุนแฝง ข้ามตัวกลางในพื้นที่เหมือนอีคอมเมิร์ชอื่นๆ” นายวิรไทกล่าวและว่า

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมจะไม่เหมือนเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยีคลาวด์ที่ลดต้นทุนให้เอสเอ็มอี ที่ไม่ต้องลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์ และยังใช้ประโยชน์ในการประมวลผลข้อมูลได้อีกด้วย นอกจากนี้ ขณะนี้เกิดเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน ทั้งแกรบและอูเบอร์ หรือ อีคอมเมิร์ชอย่างอาลีบาบา

“วันก่อนคุยกับโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เจ้าหนึ่ง วันนี้เขาขยายไป 5,000 กว่าแห่ง ส่งของ 1.1 ล้านกล่องต่อวัน เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ต้องดูในเชิงลึก ไม่ดีจริงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญ ข้อมูลเกิดขึ้นมากมาย เข้าไปในทุกกระบวนการผลิต และรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป งานที่ทำซ้ำๆจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ”

สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามทำ คือ ยกระดับการชำระเงินของประเทศ ที่ต้องมีประสิทธิภาพ อีคอมเมิร์ชจะเกิดไม่ได้หากการชำระเงินไม่มีประสิทธิภาพและแพง เราทำร่วมกับกระทรวงคลัง คือ ระบบพร้อมเพย์ ปัจจุบันมี 46 ล้านบัญชี มีปริมาณธุรกรรม 6.5 ล้านรายการต่อวัน คนไทยเริ่มเท่าทันต่อเทคโนโลยี การเข้าไปใช้บริการที่ธนาคารมีต้นทุน 100 บาทต่อรายการ

วันนี้เราไปสู่อีกขั้น คือ การต่อยอดการใช้ข้อมูลการชำระเงินไปสู่ระบบการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี แต่เดิมอิงหลักประกัน แต่ตอนนี้จะสร้างเป็นการใช้ข้อมูลเป็นฐานสำคัญ เช่น การขายมีลูกค้าประจำหรือไม่ หากมีแสดงว่าเอสเอ็มอีนี้มีความเสี่ยงต่ำ หรือส่งของไปที่รหัสไปรษณีย์อะไรบ้าง เป็นพื้นที่ที่มีชนชั้นกลางหรือคนรวยมากไหม มีการขายมากขึ้นหรือไม่ ถ้าข้อมูลเหล่านี้ดี ไม่ต้องรอเอสเอ็มอีมาขอด้วยซ้ำ อีกเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอยู่ คือ พัฒนาระบบคิวอาร์โค้ด เป็นครั้งแรกในโลกที่จับมือกับ 5 บริษัทเครดิตการ์ดทั้งจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทำมาตรฐานคิวอาร์โค้ด” นายวิรไท กล่าว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์