GDP ภาคเกษตรปี”62 “วูบ” “ยาง-ปาล์ม” ราคาดิ่ง ยกเว้น “ข้าว” ราคาดี

แนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (GDP สินค้าเกษตร) ปี 2562 จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 จัดเป็นการขยายตัวที่ “ชะลอ” ลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 เป็นผลจาก “GDP ในสาขาพืช” ขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 จากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4

 

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า แนวโน้มสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะมีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ในปี 2562 ได้แก่ ข้าว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง ส่วนสินค้าเกษตรที่มีราคาจะใกล้เคียงกับปี 2561 ได้แก่ สับปะรดโรงงาน, ยางพารา และน้ำมันปาล์ม สำหรับพืชเกษตรที่คาดว่าผลผลิตจะลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง, อ้อย, สับปะรด เนื่องจากภาครัฐมีโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลาย และผลจากราคาที่ปรับลดลงในปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดและอ้อยลง

สงครามการค้าทุบราคายางดิ่ง

ในปี 2561 ยางพารา เป็นสินค้าที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำรุนแรง โดยราคาต่ำสุดถึง กก.ละ 40-41 บาท เป็นผลจากความต้องการใช้ยางพาราโลกลดลง “สวนทาง” กับปริมาณการผลิตโลกที่เพิ่มขึ้นจาก 12.14 ล้านตัน เป็น 14.59 ล้านตัน

โดยปัจจัยสำคัญมาจากสงครามการค้า ทำให้กำลังซื้อลดลง ความต้องการใช้ยางล้อในตลาดสำคัญ ๆ อย่าง จีน ก็ลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะกระตุ้นการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น โดยการออกมาตรการช็อปช่วยชาติให้ซื้อยางเพื่อนำไปใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี แต่ก็ยังไม่สามารถฉุดราคายางกลับขึ้นมาได้

ดังนั้น จึงคาดการณ์แนวโน้มราคายางพาราในปี 2562 ว่า “ราคายางจะยังทรงตัว” เนื่องจากประเทศผู้ผลิต ได้แก่ เวียดนาม, สปป.ลาว, เมียนมา และกัมพูชา ยังขยายเนื้อที่ปลูกยางเพิ่มขึ้น แต่ภาวะสงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังคงยืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3.9% ส่งผลให้การใช้ยางพาราของโลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561

“โรคใบด่าง” มันสำปะหลัง

ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2562 คาดว่าจะมีประมาณ 29.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.49% จากปี 2561 ที่มีผลผลิต 27.88 ล้านตัน เนื่องจากไทยไม่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นโอกาสในการส่งออกมันสำปะหลังของไทย โดยนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2562 กรมจะเร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น ตุรกี-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงมาก

ส่วนตลาดหลัก คือ “ตลาดจีน” นั้นคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการนำเข้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าสภาพภูมิอากาศยังคงหนาวเย็น จะเพิ่มการผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีน

เร่งระบายปาล์มสต๊อกผลิตไฟฟ้า

ส่วน “ปาล์มน้ำมัน” นั้นในปี 2561 เรียกได้ว่า “วิกฤตหนัก” ภายหลังจากที่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้มีมาตรการไม่นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มทั่วโลกรวมถึงไทย ลดลงจาก กก.ละ 4-5 บาท เหลือ 2.50 บาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ปริมาณสต๊อกประเทศผู้ผลิตก็เพิ่มขึ้น โดยอินโดนีเซียมีสต๊อก 4.3 ล้านตัน, มาเลเซีย 2.5 ล้านตัน

ส่วนไทยมากถึง 3.8 แสนตัน ทิศทางผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% หรือมากกว่า 15 ล้านตัน เพราะช่วงต้นปีประเมินว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญแต่ก็ไม่เกิด อีกทั้งต้นปาล์มไทยยังเป็นปาล์มหนุ่มสาวให้ผลผลิตสูง ส่วนการส่งออกปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 300,000 ตัน ส่วนทิศทางราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 500-600 จากปัจจุบันตันละ 490 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราคาน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 18 บาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่ง “ปรับสมดุล” สต๊อกปาล์มน้ำมัน โดยการขออนุมัติงบประมาณ 525 ล้านบาท เพื่อใช้ชดเชยให้เอกชนที่ซื้อน้ำมันปาล์มไปส่งออก แต่ก็ไม่สำเร็จ และให้กระทรวงพลังงานผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B20 แต่ก็ได้รับเสียงปฏิเสธจากบรรดากลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่ง กระทั่งสุดท้าย รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการดึงน้ำมันปาล์มไปใช้ผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าบางปะกง 160,000 ตัน เพื่อยกระดับราคาผลปาล์มให้ถึง กก.ละ 3 บาท

เซฟการ์ดดันราคามะพร้าว

“มะพร้าว” ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีความเสี่ยงด้านราคาสูงอีกกลุ่มหนึ่ง โดยในปี 2560 ไทยมีการนำเข้ามะพร้าวถึง 400,000 ตัน

ส่งผลให้ราคาผลผลิตมะพร้าวในประเทศลดลงไปต่ำกว่า กก.ละ 4 บาท เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาให้มะพร้าวเป็น “สินค้าควบคุม” กระทั่งล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมมีมติว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้มาตรการภาษีปกป้องพิเศษ (special safeguard) มะพร้าวนำเข้า โดยคำนวณจากประวัติการณ์นำเข้าย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2557-2559) คิดเป็นปริมาณ 156,655 ตัน ให้เสียภาษีนำเข้า 54% หากเกินจากนั้นต้องเสียภาษี 72% ซึ่งผลจากเตรียมประกาศมาตรการนี้ ทำให้ราคามะพร้าวปรับขึ้นเป็น กก.ละ 7 บาท

ข้าว-ข้าวโพดราคาดี

“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาน้อยที่สุด โดยในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ในปี 2561 ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงตันละ 18,000 บาท ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เคยว่างใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

ส่วนข้าวนาปรังอาจจะลดลงจากสาเหตุเกษตรกรปรับลดพื้นที่นาปรังลง เพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นตามนโยบายรัฐ เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ “ข้าวโพด” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาปรับสูงขึ้นกว่า กก.ละ 10 บาท จากช่วงที่ผ่านมา กก.ละ 8.50 บาท ในภาคการส่งออกข้าวปี 2562 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในปี 2562 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะลดลงเหลือ 10 ล้านตัน มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากยังคงมีความท้าทายและแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงประเทศผู้นำเข้าข้าว อาทิ อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ได้มีการนำเข้าข้าวไปสต๊อกไว้ “ดังนั้นอาจลดการนำเข้าข้าวในปี 2562 ลง”

ขณะที่ “จีน” กลับมีสต๊อกข้าวขาวเก่ามากถึง 113 ล้านตัน “ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน” และส่งออกทำเป็นข้าวนึ่งในราคาตันละ 325 เหรียญสหรัฐ หรือ “ต่ำกว่า” ข้าวนึ่งไทยที่ขายตันละ 329 เหรียญ ทำให้จีนสามารถแย่งตลาดข้าวนึ่งไทยในแอฟริกาไปได้ และยังเชื่อมโยงไปถึงเวียดนามที่ได้นำข้าวออกมาทุ่มขายในตลาด เนื่องจากส่งออกข้าวให้จีนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องรอลุ้น “อานิสงส์” จากภาวะภัยแล้งในอินเดียผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลกว่า ผลผลิตข้าวจะเสียหายไปประมาณเท่าไร แต่ไม่ว่าราคาข้าวจะเป็นอย่างไร เอกชนหวังว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง “ไม่ควร” หวนกลับไปใช้โครงการประชานิยมอีก

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!